จิรพรรณ บุญหนุน
กองบรรณาธิการ
ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไปรษณีย์ไทยมีการทบทวนการลงทุนเพื่อรักษากระแสเงินสด (Cash flow) ไว้มากที่สุด และมีการชลอการลงทุน เช่น ยกเลิกการก่อสร้างอาคารใหม่ที่มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทย ยังจะร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาธุรกิจเข้าสู่การทำงานในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
สำหรับการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล บริษัทได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 โครงการที่คาดว่าจะต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 3 ปีประกอบด้วย การพัฒนาต่อยอดการให้บริการของตู้ไปรณีย์ อัจฉริยะ หรือ ตู้ iBox ณ. ที่ทำการไปรษณีย์และภายในศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยในปัจจุบันตู้ iBox จะให้บริการ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถรับพัสดุได้ตามเวลาที่ต้องการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทั้งนี้ บริการตู้ iBox รองรับเฉพาะสิ่งของแบบมีหลักฐาน เช่น ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ไปรษณีย์แบบลงทะเบียน เป็นต้น
สำหรับการต่อยอดในการให้บริการไปรษณีย์ของตู้ iBox จะมีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเป็นจุดรับส่งผลิตภัณฑ์ยาที่ต้องการความเย็นในการเก็บรักษาด้วย โดยลูกค้าที่เป็นคนไข้ของโรงพยาบาล สามารถมารับยาผ่านตู้ไปรษณีย์ได้ด้วย โดยบริษัทจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต) ในการส่งยาให้กับคนไข้ผ่านตู้ iBox ที่สามารถเก็บยาได้อย่างมีคุณภาพ ในกรณีที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสามารถส่งยาให้กับคนไข้ผ่านตู้ iBox ของไปรษณีย์ได้ แทนการไปรับยาที่โรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดของสถานพยาบาล ทั้งนี้คาดว่าจะติดตั้งตู้ iBox ประมาณ 30,000 แห่งทั่วประเทศภายใน 3 ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมีนาคมปีหน้าซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างสัญญาจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาการจัดทำโครงการตู้ iBox ในเดือน ก.ย. นี้
“ไปรษณีย์ไทยจะร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการให้บริการให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น พัฒนาตู้ iBox ที่จะทำให้การรับฝากและนำจ่ายสิ่งของในปัจจุบันไปสู่ระบบการให้บริการอัตโนมัติ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในการเป็นตัวแทนธนาคารให้บริการรับฝาก-ถอนเงิน และในอนาคตจะมีการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ให้บริการยืนยันตัวตน (KYC) แก่ผู้ใช้บริการที่ต้องการเปิดบัญชีเงินฝาก ณ เคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ทั่วประเทศ รวมทั้งใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไปรษณีย์ไทย มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการส่งสิ่งของขนาดใหญ่ (G2G/B2B) การจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้า การนำจ่ายถึงบ้าน และการส่งคืนสินค้าให้ผู้ฝาก” ก่อกิจ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่ติดตั้งอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ Internet of thing (IoT) ในตู้ส่งจดหมายทุกตู้ที่มีกว่า 22,000 จุดทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อ ลดกำลังคนในการไปเปิดตู้ส่งจดหมาย ในกรณีที่บางตู้จดหมายไม่มีจดหมาย ทั้งนี้ในส่วนของอุปกรณ์ไอโอที จะติดบนช่องส่งจดหมาย เมื่อมีการส่งจดหมายเซ็นเซอร์ของอุปกรณ์ไอโอทีจะแจ้งไปยังไปรษณีย์ที่รับผิดชอบให้มาเปิดตู้ กรณีที่ไม่มีการส่งจดหมายในตู้ส่งไปรษณีย์ ไปรษณีย์ที่รับผิดชอบไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่มาเปิดตู้รับส่งไปรษณีย์ทุกวัน เป็นต้น
ก่อกิจ กล่าวต่อว่า ระบบอุปกรณ์ไอโอทีนี้ บริษัทจะเช่าใช้ระบบจาก บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด หรือ CAT คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนหน้า และภายในปีนี้จะสามารถติดตั้งอุปกรณ์ไอโอทีที่ตู้ส่งไปรษณีย์ประมาณ 1,000 ตู้และคาดว่าจะสามารถดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ไอโอทีครบ 22,000 ตู้ภายใน 3 ปี
“เรามุ่งสู่การนำดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นเพื่อยกระดับการบริการกับลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในหน่วยงานด้วย” ก่อกิจ กล่าว
ก่อกิจ กล่าวต่อว่า บริษัทในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีรายได้อยู่ที่ 12,937 ล้านบาท กำไร 865 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดส่งไปรษณีย์ไปยังต่างประเทศลดลงกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่เป้ารายได้ทั้งปีคาดการณ์ไว้ก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นในปีนี้รายได้อาจได้รับผลกระทบ จึงต้องลดการลงทุนในสิ่งที่ยังไม่เร่งด่วน เช่น จากเดิมต้องขยายสาขา ก็เน้นปรับปรุงสาขาเก่าแทนการสร้างใหม่ และสร้างใหม่เฉพาะในพื้นที่ที่จำเป็นจริงก่อน โดยอาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเช่า แทนการสร้างเอง เป็นต้น คาดว่าจะลดเงินลงทุนปีนี้ 50% จากที่คาดการณ์ว่าจะลงทุน 3,000-4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทมีการรับส่งจดหมายและพัสดุทั้งหมดประมาณ 8 ล้านชิ้นต่อวัน
นอกจากนี้ บริษัทกำลังจะมีโครงการร่วมกับธนาคารกรุงไทย ในการเป็นตัวกลางเพื่อรับชำระค่าภาษีโรงเรือนให้กับประชาชนแทนการเดินทางไปชำระเองที่สำนักงานเขต รวมถึงจะมีการเป็นตัวแทนจำหน่ายโปรแกรมออฟฟิศ 365 ของ ไมโครซอฟท์ เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบล สามารถหาซื้อโปรแกรมได้สะดวกกว่าการตั้งงบประมาณในการจัดซื้อ จัดจ้างเอง
สำหรับ นโยบายการดำเนินงานในอนาคตของไปรษณีย์ไทยจะพัฒนากลุ่มธุรกิจที่เคยเป็นฐานรายได้หลักคือกลุ่มธุรกิจไปรษณียภัณฑ์ดั้งเดิมประเภทจดหมายไปสู่รูปแบบดิจิทัลโดยจะพัฒนาระบบการจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรให้กับภาครัฐภาคธุรกิจและภาคประชาชนมีความปลอดภัยเป็นมาตรฐานเดียวกันได้รับการยอมรับในเชิงกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตถือเป็นการปรับโฉมบริการดั้งเดิมให้เป็นบริการรูปแบบใหม่ที่จะรักษาฐานรายได้เดิมเอาไว้สร้างฐานรายได้ใหม่
รัฐพล ภักดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทนอกจากจะรักษาฐานลูกค้าเดิมแล้ว ยังพร้อมรุกไปยังกลุ่มตลาดใหม่ หรือ New S-Curve เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาบริการต่างๆให้เป็นดิจิทัล เหมาะสมกับวิถีชีวิตประชาชน ผู้ใช้บริการรายย่อย ผู้ประกอบการ e-Commerce ให้ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งผู้ประกอบการสินค้าชุมชน และเกษตรกร ให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยมากขึ้น พร้อมกับการเร่งยกระดับระบบปฏิบัติการไปรษณีย์ด้วยการนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ในทุกกระบวนการทำงานให้มีมาตรฐานบริการได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพบริการที่ดี ยึดหลักธรรมาภิบาล ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปด้วยความมั่นคงและยั่งยืน
เนื่องจากในวาระครบรอบ 137 ปีไปรษณีย์ไทยเปิดตัวโครงการ“ ไปรษณีย์ reBOX “ร่วมกับ บริษัท เอสซีจีแพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) รวบรวมซองกระดาษและกล่องพัสดุที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นชุดโต๊ะเก้าอี้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาส่งมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้น้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีอุปกรณ์การเรียนที่เพียบพร้อมและเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วยการลดปริมาณขยะให้น้อยลงปูทางไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบโดยผู้ที่สนใจสามารถรวบรวมซองกระดาษและกล่องพัสดุฯ มาส่งได้ที่ไปรษณีย์ไทยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลไปรษณีย์จังหวัดและศูนย์ไปรษณีย์รวมทั้งสิ้น 141 แห่งตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.-31 ต.ค.นี้