ดีอี เร่งขับเคลื่อน Digital ID พร้อมหาแนวแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์ผ่าน CoD

กองบรรณาธิการ

ปัจจุบันการพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Identification (Digital ID) มีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมขับเคลื่อนการพิสูจน์ตัวตนผ่าน 8 มาตราการหลัก ขณะเดียวกันยังกำหนดแนวทางในการเก็บเงินปลาย (Cash on Delivery) สำหรับธุรกิจออนไลน์

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการประชุมหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เพื่อหารือการผลักดันการดำเนินงานในระดับนโยบายที่สำคัญ ภายใต้บทบาทของการกำกับดูแลและการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการดิจิทัล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรองรับการขยายตัวของกิจกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล ที่ประชุมได้สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน 2 เรื่อง ได้แก่ การดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID และ การประกาศใช้ข้อเสนอแนะมาตรฐานว่าด้วยบริการเก็บเงินปลายทางสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Cash on Delivery (COD)

สำหรับการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID (การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) ดีอี มีนโยบายในการขับเคลื่อน และผลักดันการดำเนินงานภายใต้ “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ ในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2567) เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ” ที่มีมติ ครม. (6 ธันวาคม 2565) ในการให้กระทรวงดีอี และกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการขยายการใช้งานทั้งในบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้เกิดการยกระดับเป็นงานที่มีความสำคัญ เช่น การเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดแผนการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมในระยะต่อไป ภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ การดำเนินงานได้มีการกำหนด 8 กลยุทธ์หลักที่สำคัญ ภายใต้กรอบการขับเคลื่อนฯ ที่ครอบคลุมในประเด็น ดังนี้

(1) การมี Digital ID ที่ครอบคลุมบุคคล นิติบุคล และบุคคลต่างชาติ เพื่อรองรับการยืนยันตัวตนการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การมอบอำนาจและการให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์

(2) ประชาชนสามารถเลือกใช้ Digital ID ในระดับความเชื่อมั่นที่มีความเหมาะสม เพื่อการเข้าถึงบริการทางออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน

(3) กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลและบริการ สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตน โดยมุ่งเน้นกระบวนการกำกับดูแลให้มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ

(4) การใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น ร่วมกับการมอบอำนาจ (หากจำเป็น)

(5) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลของฝั่งนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคล ผ่าน Digital ID

(6) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านระบบ Digital ID ที่น่าเชื่อถือ และใช้งานได้อย่างวงกว้าง โดยไม่ต้องลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน

(7) ETDA จะพัฒนามาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการมีมาตรฐานที่สอดคล้องกัน และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ โดยให้หน่วยงานในแต่ละภาคส่วน นำไปประยุกต์ใช้

(8) ETDA จะพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับบริการ Digital ID ระหว่างรัฐและเอกชน

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ Digital ID อย่างแพร่หลายผ่านหลายบริการที่สำคัญ เช่น ThaID (11.4 ล้านคน), เป๋าตัง (37.3 ล้านคน), NDID (15.66 Account) และ Mobile ID (85,000 คน)

ในส่วนของการประกาศใช้ข้อเสนอแนะมาตรฐานว่าด้วยบริการเก็บเงินปลายทางสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Cash on Delivery (COD) สำหรับผู้ให้บริการขนส่งสินค้า และบุคคลที่สามที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและผู้ส่งสินค้า เช่น ผู้ให้บริการจองขนส่งออนไลน์ (shipping aggregator) ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ (online marketplace) นั้น ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีผู้บริโภคถูกหลอกลวงให้ชำระค่าสินค้าที่ไม่ได้สั่งหรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง โดยมีประเด็นที่เป็นข้อกำหนดของบริการเก็บเงินปลายทาง ดังนี้

(1) การพิสูจน์ตัวตนผู้ส่งสินค้า

(2) การกำหนดระยะเวลาการถือเงินค่าสินค้า

(3) การบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้า

(4) การให้ข้อมูลผู้บริโภค

(5) การเฝ้าติดตามพฤติกรรมการส่งพัสดุของผู้ส่งสินค้า

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สำหรับ

(1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบทราบข้อมูลของผู้กระทำความผิดได้ทันท่วงที

(2) ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายมีโอกาสได้เงินคืนจากการถือเงินค่าสินค้าของผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและผู้รับโอนเงินทุกทอด

(3) ป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคเมื่อผู้ให้บริการขนส่งสินค้าตรวจพบพฤติกรรมการส่งสินค้าที่ต้องสงสัย

สำหรับการดำเนินงานในระยะถัดไป คือ การนำมาตรฐานไปปฏิบัติ ร่วมกับผู้ให้บริการขนส่ง พร้อมส่งเสริมการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ให้บริการที่ให้บริการได้ตามาตรฐาน 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะไม่ครอบคลุมถึงกรณีผู้บริโภคต้องการขอคืนเงินด้วยเหตุ ไม่พึงพอใจในคุณภาพของสินค้าที่ได้รับ

#ดีอี #DigitalID #CoD #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share