ETDA ชี้ผู้ให้บริหารแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องแจ้งข้อมูล ตามกฎหมาย DPS ภายใน 18 พ.ย.นี้

กองบรรณาธิการ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA  หารือร่วมกับ ผู้แทนทางการทูตของไทย กว่า 10 ประเทศ ทำความเข้าใจถึงสาระสำคัญและขอบเขตของพ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (กฎหมาย DPS) สู่การร่วมผลักดันให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ รีบเข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ ก่อนหมดเขต 18 พ.ย.นี้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ พร้อมด้วย ETDA ได้จัดประชุมหารือผู้แทนทางการทูตไทย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย DPS (Digital Platform Service) มุ่งเน้นบทบาทของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มที่เป็นของต่างประเทศแต่ให้บริการแก่ผู้บริโภคในไทย ที่จะต้องมีการแจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA ภายในวันที่ 18 พ.ย. 66 นี้ ซึ่งตั้งแต่เปิดระบบให้แจ้งการประกอบธุรกิจจนถึงปัจจุบัน มีธุรกิจบริการแพลตฟอร์มได้ดำเนินการเข้ามาแจ้งแล้ว 205 แพลตฟอร์ม เป็นแพลตฟอร์มที่ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศบางส่วน โดยการหารือในครั้งนี้ ก็เพื่อทำความเข้าใจในบทบาทการสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันตลอดจนนำไปสู่การผลักดันในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

“ปัจจุบัน ETDA พบประเด็นข้อร้องเรียนปัญหาออนไลน์เข้ามาจำนวนมาก ในปี 2566 มีกว่า 6 หมื่นราย ส่วนใหญ่เกิดปัญหาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้ง การประสานงานไปยังแพลตฟอร์มยังพบปัญหา ดังนั้น กฎหมาย DPS จึงได้ระบุว่า แพลตฟอร์มต่างประเทศ จะต้องแต่งตั้ง ผู้ประสานงานในไทย หรือ Point of Contact การแต่งตั้งผู้ประสานงานในไทย เพื่อประโยชน์ในการแจ้งการประกอบธุรกิจและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ โดยจะต้องมีการแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและต้องอยู่ในราชอาณาจักรและกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดตั้งธุรกิจในไทย โดยผู้ประสานงานอาจแต่งตั้งให้สำนักงานกฎหมายดำเนินการแทนก็ได้ ซึ่งมีหน้าที่หลัก คือ การแจ้งข้อมูลและการรายงานประจำปี”

ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้น ผู้แทนทางการทูตของไทยได้ร่วมแสดง ความคิดเห็น และประเด็นซักถามเพื่อทำความเข้าใจ เช่น ประเด็นการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ กรณีฝั่งยุโรปจะมีหน่วยงานที่ดูแลกฎหมาย DSA (Digital Service Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความใกล้เคียงกับกฎหมาย DPS ของไทย ดังนั้น การมีช่องทางในการสื่อสารกับภาครัฐ และเอกชนในต่างประเทศจึงเป็นกลไกที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีในส่วนกรณี การปฏิเสธความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มหากเกิดปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ทางกระทรวงดีอี และ ETDA ได้มีการหารือร่วมกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ๆ มาอย่างต่อเนื่องสำหรับกำหนดแนวทางและการร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงการยกระดับการดำเนินงานในระยะยาว 

การดำเนินงานในระยะต่อไปทาง ETDA จะมีการจัดส่งข้อมูล เพื่อสนับสนุนกับทางผู้แทนทางการทูต          ซึ่งจากการหารือร่วมกันนี้ แสดงให้เห็นถึงการร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อเร่งสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรไทย ให้เร่งดำเนินการเข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจกับ ETDA  เพื่อให้การดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

#ETDA #ThaiSMEs #กฎหมายDPS #DigitalPlatformService

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share