ETDA ลุยเวิร์กชอป ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย-นักกฎหมาย เผยแพลตฟอร์มดิจิทัล 15 ประเภทที่ต้องแจ้งข้อมูลให้ทัน 18 พ.ย. 66 นี้

กองบรรณาธิการ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเวที Workshop ให้กับสำนักงานทนายความ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และนักกฎหมาย เร่งทำความเข้าใจนิยาม ตลอดจนขอบเขตกฎหมาย DPS เพื่อประโยชน์ในการให้คำปรึกษาของที่ปรึกษาแก่ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ชัดเจนมากขึ้น ย้ำการแจ้งข้อมูลไม่จำกัดแค่ Online Marketplace แต่ยังครอบคลุมแพลตฟอร์มดิจิทัลอีก 15 ประเภท ที่ต้องเข้ามาแจ้งให้แล้วเสร็จก่อน 18 พฤศจิกายน 2566 นี้

นางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ที่ปรึกษา จาก ETDA  ด้านกำกับดูแลกฎหมาย DPS กล่าวว่า ETDA ได้เปิดเวทีจัดกิจกรรม Workshop ให้กับกลุ่มสำนักงานทนายความ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และนักกฎหมาย ที่เป็นตัวแทนและทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้มีความเข้าใจถึงลักษณะของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมายที่ต้องเร่งแจ้งให้ ETDA ทราบ มากยิ่งขึ้น

สาระสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้ จะมีการอธิบายและทำความเข้าใจแบบเจาะลึก ถึงรายละเอียดของกฎหมาย  โดยเฉพาะในประเด็นของการตีความของการนิยามคำว่า “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่ต้องมาแจ้งข้อมูลตามกฎหมาย ที่ระบุว่าคือ บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดการเชื่อมต่อเกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตามนั้น ไม่ได้จำกัดแค่แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางสำหรับการซื้อขายเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปในประเภทอื่นๆ ด้วย

“บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลและปฏิบัติตามกฎหมาย DPS จะครอบคลุมบริการแพลตฟอร์ม จำนวน 15 ประเภท ได้แก่  1. บริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) 2. บริการ Sharing Economy Platform เช่น บริการรถยนต์/รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสาธารณะ (Ride Sharing) บริการเช่ายานพาหนะ (Car Sharing) บริการแบ่งปันความรู้/การศึกษา (Knowledge Sharing) บริการแบ่งปันแรงงาน (Labor Sharing) บริการแบ่งปันพื้นที่ (Space Sharing) สำหรับเช่าพื้นที่ เช่น ที่พักอาศัย (ที่ไม่ใช่โรงแรม) สำนักงาน เป็นต้น 3. บริการการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) ได้แก่ บริการสื่อสารออนไลน์ทั่วไป (General) บริการสื่อสารออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Communication Commerce หรือ            C-Commerce) เช่น Chat Bot ที่มีการเสนอสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภค หรือฟังก์ชันอื่น ๆ สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ 4. บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น บริการสื่อสังคมออนไลน์ (General) บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Social Commerce (S-Commerce)) 5. บริการโฆษณาออนไลน์ (Advertising Service) ซึ่งรวมถึง Advertising Networks บริการรวบรวมพื้นที่โฆษณาออนไลน์ และให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการลงโฆษณา และ Advertising Exchanges บริการที่นำพื้นที่โฆษณาออนไลน์และผู้ที่ต้องการลงโฆษณามาเจอกันและเปิดให้มีการประมูลราคาพื้นที่ต่างๆ 6. บริการสื่อโสตทัศน์และเพลง (Audio-Visual and Music Sharing) 7. บริการสืบค้น (Searching Tools) เช่น บริการสืบค้นข้อความ รูปภาพ โดยมีการแสดงผลเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง 8. บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) 9. บริการแผนที่ออนไลน์ (Maps) 10. บริการเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browsers) 11. บริการผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistants) เช่น การใช้เสียงสั่งงานผ่านอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงบริการหรือควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ 12. บริการระบบปฏิบัติการ (Operating System) เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในออฟฟิศ 13. บริการโฮสต์ (Hosting Service) หรือให้บริการเช่าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเว็บไซต์ต่างๆ 14. บริการคลาวด์ (Cloud Service) และ 15. บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) โดยแพลตฟอร์มนี้จะครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศโดยให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ (User) ในไทยด้วย”

สำหรับข้อมูลที่ต้องแจ้งให้กับ ETDA ตามกฎหมายจะมี 6 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 2. ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 3. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (ถ้ามี) 4. ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน (5 ลำดับแรกที่มีการร้องเรียนมากที่สุด) 5. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักร (กรณีผู้ประกอบธุรกิจอยู่ต่างประเทศ) และ 6. คำยินยอมให้สำนักงานเข้าถึงข้อมูลที่ได้แจ้ง

ซึ่งตลอดจนการจัดกิจกรรมผู้เข้าร่วมได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยในช่วงเปิดโอกาสให้ซักถาม ผู้เข้าร่วมได้มีคำถามในหลายๆ ประเด็น เช่น คำนิยามของแพลตฟอร์มที่ชัดเจนตามกฎหมาย ที่ได้มีการยกตัวอย่างว่าแพลตฟอร์มที่ต้องแจ้งข้อมูลกับ ETDA จะไม่รวมถึง แพลตฟอร์มที่มีไว้เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายเดียว หรือบริษัทในเครือที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไปพิจารณาเพิ่มเติมตามประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) เรื่องลักษณะของการให้บริการแพลตฟอร์มฯ ที่มีหน้าที่แจ้งรายการโดยย่อ หากแพลตฟอร์มดังกล่าวมีบริการ Hyperlink หรือ Banner ไปยังบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น นอกจากนี้ ยังได้มีการสอบถามในมุมของรายละเอียดปลีกย่อยที่เชื่อมโยงตามมาตราต่างๆ ในกฎหมาย ประกาศและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ คธอ. และ ETDA ได้มีการประกาศมาแล้วรวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ เป็นต้น

โดยหลังจากวันนี้ทางทีมกำกับดูแลตามกฎหมาย DPS ของ ETDA ยังคงเดินหน้า Workshop ให้ความรู้ ตลอดจนทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ แพลตฟอร์มต่างๆ ตลอดจนผู้แทนทางการทูตของไทยประจำประเทศต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

พร้อมกันนี้ ETDA จึงขอเน้นย้ำสำหรับบริการแพลตฟอร์มแต่ละประเภทที่ตรงกับคำนิยามของกฎหมาย รวมถึงมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทย เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทย เกิน 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทย เกิน 5,000 คนต่อเดือน (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม) ก็ถือว่าเข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มทั่วไป ที่ต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ ให้แล้วเสร็จในกลุ่มแรก ที่มีกำหนดว่าต้องดำเนินการภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่จะถึงนี้

สำหรับขั้นตอนการแจ้งข้อมูล กรณีทำผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ ETDA ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps/th/login

#ETDAThailand #ETDA #กฎหมายDPS #DigitalPlatformService #แพลตฟอร์มดิจิทัล #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share