โชเชียลมีเดีย กิจกรรมยอดฮิตผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ขณะที่ Facebook แชมป์ช่องทางการขายออนไลน์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยถึง ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 หรือ Thailand Internet User Behavior 2019 ว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 150% ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 47.5 ล้านคน หรือราว 70% ของจำนวนประชาชนทั้งหมด
จากการสำรวจข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ประจำปี 2562 ผ่านทางออนไลน์ ช่วงเดือน ส.ค.- ต.ค. 2562 โดยมีคนไทยเข้ามาตอบแบบสอบถาม 17,242 คน ผลการสำรวจ พบว่า ปี 2562 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที เพิ่มขึ้น 17 นาทีจากปีที่ 2561 และเมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นเทียบกับชั่วโมงการใช้งาน พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีอายุระหว่าง 19-38 ปี หรือ Generation Y (Gen Y) เป็นกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดติดต่อกัน 5 ปีซ้อน โดยมีชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 10 ชั่วโมง 36 นาที รองลงมาได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี หรือ Gen Z มีชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ต อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 35 นาที ส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอายุระหว่าง 55-73 ปี หรือ Baby Boomer มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 10 ชั่วโมง และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอายุระหว่าง 39-54 ปี หรือ Gen X มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 49 นาที ตามลำดับ หากพิจารณาตามเพศ พบว่า เพศทางเลือกครองแชมป์ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 11 ชั่วโมง 20 นาที รองลงมาคือ เพศชายใช้อินเทอร์เน็ต 10 ชั่วโมง 25 นาที และเพศหญิงใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 17 นาที
สำหรับอาชีพที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 50 นาที รองลงมาคือ พ่อบ้าน/แม่บ้านใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 38 นาที เจ้าของกิจการ/ประกอบธุรกิจส่วนตัวใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 34 นาที คนว่างงาน/ไม่มีงานทำใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 32 นาที และอาชีพอิสระ/ฟรีแลนซ์ใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 30 นาที ตามลำดับ สำหรับผลการสำรวจ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละภาค พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภาคเหนือมีจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 10 ชั่วโมง 31 นาที ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 28 นาที ภาคกลางมีการใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 19 นาที กรุงเทพมหานครมีการใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 19 นาที และภาคใต้มีการใช้อินเทอร์เน็ตที่ 10 ชั่วโมง 17 นาที ตามลำดับ สำหรับปัจจัยที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในแต่ละภาคที่ใกล้เคียงกันเป็นผลมาจากนโยบายเน็ตประชารัฐที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตคลอบคลุมพื้นที่แล้วกว่า 24,700 หมู่บ้าน และให้บริการ Free WI-FI ที่คลอบคลุมชุมชนกว่า 10,000 จุด ทำให้คนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่า 91.2% ใช้อินเทอร์เน็ตไปกับ Social Media (Facebook, Line, Instagram) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมยอดฮิต 7 ปีซ้อน รองลงมาคือ ดูหนัง ฟังเพลง 71.2% ค้นหาข้อมูลออนไลน์ 70.7% รับ-ส่งอีเมล 62.5% และการชำระเงินค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ 60.6% ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่การชำระเงินติด 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดฮิต สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของ Online payment services ของไทยที่เพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของกิจกรรมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การสั่งอาหารออนไลน์ โดยมีการสั่งอาหารออนไลน์ เพิ่มขึ้นจากปี 61 ถึง 15.1% รองลงมาคือ การชำระค่าสินค้าและบริการ ใช้บริการเพิ่ม 11.4% และการรับ-ส่งสินค้า/พัสดุ/เอกสารทางออนไลน์ เพิ่มขึ้น 11.0% ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาช่องทางออนไลน์ หรือ e-Marketplace ไหนถูกใจคนซื้อ-ขายมากที่สุด พบว่า Shopee ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ 75.6% รองลงมาคือ Lazada ได้รับความนิยมที่ 65.5% และ Social Media ได้แก่ Facebook Fanpage 47.5% และ Line 38.9% สำหรับช่องทางโชเชียลมีเดีย ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมขายสินค้าผ่านมากที่สุด ได้แก่ Facebook Fanpage มีความนิยมในการการขายสินค้าที่ 64.0% รองลงมาคือ Shopee 43.1% และ LINE 39.5% ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ LINE ติดต่อสื่อสารมากที่สุดที่ 98.5% รองลงมาคือ Facebook Messenger, FaceTime และ WhatApp ตามลำดับ จากการสำรวจผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยังพบว่า ปัญหากวนใจในการใช้อินเทอร์เน็ต มากสุดที่คือ โฆษณาออนไลน์รบกวนการใช้งานถึง 78.5% รองลงมาคือความล่าช้าในการเชื่อมต่อ 68.7% ปัญหาข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ 35.8% ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถาม 73.3% ยังคงเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูงนี้ โดยมีปัจจัยมาจากความเอาใจใส่ในการเพิ่มมาตรการลดภัยคุกคามออนไลน์ต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti-Fake News Center เพื่อลดปัญหาข่าวปลอม และการมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center
สำหรับประเด็นร้อน Hot Issue ความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัลไอดี จากการสำรวจพบว่า กิจกรรมการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่คนส่วนใหญ่รู้จักและเคยทำมาก่อนกว่า 91.6% คือการกรอก รหัส OTP รองลงมาคือ การสมัครใช้บริการออนไลน์ของเอกชน โดยให้ข้อมูลส่วนบุคคล 85.9% การเข้าใช้บริการออนไลน์ของภาคเอกชนด้วยรหัสผ่านที่ตั้งขึ้นมา 82.1%
ในส่วนของกิจกรรมที่นิยมสร้างบัญชีใหม่ เพื่อยืนยันการใช้บริการมากที่สุดคือ การต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ออนไลน์ รองลงมาคือ การซื้อขายสินทรัพย์ออนไลน์ และการเรียนออนไลน์ ส่วนกิจกรรมที่นิยมใช้บัญชีเดิม (บัญชีใน Social Media, Internet Banking ฯลฯ) มากที่สุดคือ ใช้รถโดยสารออนไลน์ รองลงมา สั่งอาหารออนไลน์ และอ่านหนังสือทางออนไลน์
สำหรับคำถามผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่า ต้องการใช้บัญชีเดียวในการเข้าถึงทุกบริการออนไลน์หรือไม่ ส่วนใหญ่ 64.4% ตอบว่าต้องการใช้บัญชีเดียวเข้าถึงทุกบริการ 23.8% ตอบว่าไม่แน่ใจ และ 11.9% ตอบว่าไม่ต้องการ ส่วนประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้ภาครัฐดูแลมากที่สุด คือ ความมั่นคงปลอดภัย ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล 61.4% การมีกฎหมายกำกับ ดูแลหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 18.5% การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ 11.2% และระบบที่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง 7.2% เป็นต้น จากตัวเลขที่เพิ่งสูงนี้นับเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามที่ภาครัฐต้องดูแล ส่งเสริม และเฝ้าระวัง ให้การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ผ่านนโยบายที่ตอบโจทย์การใช้ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย