UAB จับมือ แพทย์ มธ ใช้เทคโนโลยี AI รองรับงานสาธารณสุข พร้อมจัดงาน AI in Med Conference 2023 18-19 กันยายน นี้

กองบรรณาธิการ

ด้วย เทคโนโลยี AI เป็นกุญแจหลักสู่ความเป็นผู้นำของภูมิภาค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบัน Marnix Heersink for Biomedical Innovation สถาบันชั้นนำของการค้นคว้าวิจัยงานนวัตกรรมดิจิตัลเทคโนโลยี การแพทย์ของสหรัฐ ฯ ซึ่งอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยอลาบามา ณ เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) หรือ UAB เตรียมจัดงาน เจาะลึกการใช้ AI ในวงการแพทย์ครั้งแรกในไทย ภายใต้ชื่อ AI in MED Conference 2023 โดยงานนี้จะเป็นการรวบรวมเอานวัตกรรมด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่ใช้ในทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกมาไว้ในงานเดียวกัน เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันวงการการแพทย์ไทยให้ก้าวสู่ยุคใหม่แห่ง Medical AI และ Digital Health ที่จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในอนาคตอันใกล้ งานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 กันยายน 2566 ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท (Eastin Grand Hotel Phayathai) โดยการจัดงานอยู่ภายใต้ธีม Discover the Power of AI in Medicine – Bringing Together the Next Era of Medical AI and Digital Health

โดยมีเป้าหมายสำคัญครั้งนี้คือการรวมเอาผู้นำทางเทคโนโลยีทางการสาธารณสุขมาร่วมพูดคุยประเด็นสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินหน้านำดิจิตัลเทคโนโลยีมาใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างมั่นคง โดยภายในงานประชุมนี้จะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีวิทยากรชั้นนำระดับโลกและของไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด แบ่งปันประสบการณ์ และนำเสนอนวัตกรรมล่าสุด อีกทั้งยังเป็นเวทีที่ให้บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาให้ข้อมูลเชิงลึก นอกจากนั้นแล้ว งานนี้ยังได้วิทยากรชั้นนำแนวหน้าจากโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของสหรัฐ ฯ ที่เป็นผู้บุกเบิกการวางกลยุทธ์การนำ AI และ Digital Health มาใช้ในโรงพยาบาล มาแบ่งปันวิสัยทัศน์และวิธีการวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับโรงพยาบาลอีกด้วย

รศ. นพ. ดิลก ภิยโยทัย คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มธ จะเดินเข้าสู่โลกการแพทย์แห่งอนาคตด้วยกันในงานที่รวมเอาผู้เชี่ยวชาญของทั้งในเมืองไทยและที่อเมริกามาไว้บนเวทีเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และวาดภาพแผนการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อปฏิวัติวงการแพทย์ไทยในทศวรรษข้างหน้านี้ไปด้วยกัน ไม่เพียงแต่จะโฟกัสไปที่ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีเท่านั้น ยังรวมถึงแนวทางการนำมาใช้ได้จริงเพื่อช่วยวางแนวทางสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ในยุคต่อไปด้วย รวมไปถึงความร่วมมือกับ UAB Marnix Heersink for Biomedical Innovation และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพัฒนาการใช้ดิจิตัลเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้าน ดร. รูบิน พิลเลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรม แห่ง UAB Health System กล่าวว่า งานประชุม AI in MED Conference ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่น ในการสนับสนุนนวัตกรรมทั้งทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยี วิสัยทัศน์ที่ UAB และทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเหมือนกันนั่นก็คือ การคิดค้นและเป็นแนวหน้าเพื่อนำการแพทย์ก้าวสู่ยุคของ Medical AI และ Digital Health ด้วยโซลูชั่นที่มีศักยภาพเพื่อมาแปลงโฉมภูมิทัศน์ทางการสาธารณสุข

หัวใจสำคัญของงาน AI in MED Conference 2023 ครั้งนี้คือ การเสนอศักยภาพอันมากมายของเทคโนโลยี AI มาใช้และพลิกโฉมวงการแพทย์ ตั้งแต่การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแพทย์และการสาธารณสุขของประชากรที่อยู่ห่างไกลผ่านระบบ Telemedicine ไปจนถึงการปฏิรูประบบบริหารจัดการให้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ ทั้งหมดนี้ AI คือพลังสำคัญที่จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง AI ยังสามารถประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งจะช่วยการงานวิจัยและพัฒนาเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้เราก้าวไปใกล้กับการค้นพบทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้คนมากยิ่งขึ้น

ภายในงาน จะพบกับวิทยากรระดับโลก อาทิ

• ดร. รูบิน พิลเลย์ Chief Innovation Officer แห่ง UAB Health System โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของสหรัฐ ฯ

• ดร. แอนโทนี ชาง Chief Intelligence Officer คนแรกของสหรัฐ ฯ ผู้นำด้าน AI in Healthcare และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร AI in Medicine ของมหาวิทยาลัยอลาบามา ณ เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham )

• ทิโมธี โชว ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cloud-computing ครั้งหนึ่งเคยเป็น President ของ Oracle On Demand และปัจจุบันรับหน้าที่เป็นอาจารย์ Cloud computing ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)

• อัลฟอนโซ ลิมอน สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิจาก The American Board of AI in Medicine ผู้เชี่ยวชาญด้าน Algorithmic code และ ด้าน AI ทางการแพทย์

 รศ. นพ. ดิลก กล่าวต่อว่า ความร่วมมือระหว่าง UAB และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากจะมีการจัดงาน เทคโนโลยี AI ทางการแพทย์ร่วมกันแล้ว ยังมี 2 พันธกิจหลัก คือ อบรมและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในบริการงานด้านการแพทย์ อาทิ เทคโนโลยี Big data, AI รวมถึงเทคโนโลยีแม็คซีน เลินนิ่ง (Machine learning) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึง Metaverse ที่จะมาช่วยในการอบรมและพัฒนาบุคลากร และพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ความร่วมมือยังมุ่งเน้นพัฒนาและออกแบบงานวิจัย เพื่อรองรับการให้บริการด้านสาธารณสุขในอนาคต

ทั้งนี้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และมีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการรักษาคนไข้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มีการพัฒนาโซลูชั่นทางการแพทย์เพื่อนำมาช่วยในการรักษา การวินิจฉัยโรค การผ่าตัด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณสุขที่เข้าถึงทุกคนด้วย อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ UAB มีแผนที่จะเซ็นเอ็มโอยู (Memorandum of understanding หรือ MoU) เพื่ออบรม พัฒนาทักษะทางด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี AI, machine learning เพื่อมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี AI มากขึ้น โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปีนี้จะมีการให้ทุนด้านเทคโนโลยี AI, Data science ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ มีการนำโซลูชั่น คอมพิวเตอร์วิชั่น มาช่วยในทางการแพทย์มากขึ้น เช่น การคัดกรองคนไข้ การวินิจฉัยโรค การผ่าตัด การรักษา การจัดทำฐานข้อมูลและเชื่อมโยงฐานข้อมูลทางการการแพทย์ขนาดใหญ่ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการพัฒนา ecosystem ทางการแพทย์ของไทยที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ของไทยมากขึ้น เพื่อให้เกิดผลที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์มากที่สุด

“คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นปูรากฐานนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับอนาคตทั้งในเรื่องเทคโนโลยี AI และศักยภาพของมัน และจะบูรณาการเข้าไปกับการเรียนการสอนของเรา นั่นก็เพราะว่าเรามีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างให้นักศึกษาแพทย์ของเรามีทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการพาการแพทย์ไทยเดินหน้าสู่อนาคต” รศ. นพ. ดิลก กล่าว

 #AIinMED #MEDTU #UAB #AI #DIGITALHEALTH #มธ #มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share