แกร็บ ลุยตลาดนักท่องเที่ยวจีน ผนึก Alipay เพิ่มช่องทางชำระเงิน รับยอดใช้บริการเรียกรถโตกว่า 38%

กองบรรณาธิการ

แกร็บ ประเทศไทย เผยยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชันในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาสสองโตกว่า 38% พร้อมเผยอินไซต์คนจีนเล็งเที่ยวไทยอันดับหนึ่ง เตรียมขยายช่องทางชำระเงินผ่าน Alipay และ Kakao Pay รุกตลาดนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลี ในไตรมาสสาม

แกร็บ ประเทศไทย ชี้เทรนด์นักท่องเที่ยวจีนเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนผ่านยอดการใช้บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชันในไตรมาสสองที่เติบโตขึ้น 38% พร้อมเผยอินไซต์ด้านการท่องเที่ยวของคนจีน โดยไทยครองแชมป์ประเทศยอดนิยมอันดับหนึ่งกับ 5 จุดหมายปลายทางสำคัญ คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และเกาะสมุย  ด้วยงบประมาณเฉลี่ยต่อทริปราว 21,309 หยวน (หรือประมาณ 103,060 บาท) เตรียมผนึก แอนท์กรุ๊ป ผู้ให้บริการ Alipay และ Kakao Pay ขยายช่องทางชำระเงินเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลี ซึ่งติดอันดับท็อป 5 ชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยมากที่สุด

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นภายหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วกว่า 12 ล้านคน ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – มิถุนายน 2566) มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วกว่า 1.4 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการใช้บริการของนักท่องเที่ยวชาวจีนบนแพลตฟอร์มแกร็บ โดยเฉพาะบริการการเดินทาง ที่มีอัตราการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab จากนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 38% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

นอกจากนี้ แกร็บยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 3,000 คนที่อาศัยในเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เสิ่นเจิ้น เกี่ยวกับการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

• จุดหมายปลายทาง: ประเทศไทยครองแชมป์อันดับหนึ่งในฐานะประเทศที่ชาวจีนต้องการเดินทางไปมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (71%) รองลงมาคือ สิงคโปร์ (66%) และมาเลเซีย (53%)

• วัตถุประสงค์ของการเดินทาง: ชาวจีนส่วนใหญ่ต้องการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยวหรือพักผ่อนมากถึง 97% รองลงมาคือการเดินทางในเชิงธุรกิจ (2%) และเยี่ยมเพื่อนและครอบครัว (1%)

• รูปแบบของการเดินทาง: 81% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมการเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 2 – 4 คน รองลงมาคือกลุ่มใหญ่หรือมากกว่า 4 คนขึ้นไป (10%) และเดินทางคนเดียว (9%)

• 5 เมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากชาวจีน คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และเกาะสมุย

• ระยะเวลาและงบประมาณในการท่องเที่ยว: นักท่องเที่ยวจีนวางแผนใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการเข้าพักประมาณ 7 วัน และตั้งงบค่าใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ประมาณ  21,309 หยวน (หรือคิดเป็น 103,060 บาท)

“นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของแกร็บในปีนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในเชิงกลยุทธ์  โดยแอพพลิเคชันของเราได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากมีบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่บริการเรียกรถไปจนถึงเดลิเวอรี มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย มีความโปร่งใสด้านราคา มีแบรนด์ที่จดจำง่าย และมีบริการที่ครอบคลุมในหลายประเทศ ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักท่องเที่ยว จนทำให้มีการแนะนำกันปากต่อปากในกลุ่มนักท่องเที่ยว  โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา รวมถึงได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน อาทิ การทำแคมเปญการตลาดออนไลน์ร่วมกับพันธมิตรสำคัญเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน การร่วมมือกับ ททท. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในกลุ่มคนจีน โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการทำไกด์บุ๊คแนะนำแหล่งท่องเที่ยวเป็นภาษาจีน และการพัฒนาเมนูภาษาจีนในแอพพลิเคชันโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว”

ล่าสุด แกร็บเตรียมผนึกความร่วมมือกับ Alipay ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน  ซึ่งมีผู้ใช้บริการชาวจีนมากกว่าพันล้านคนทั่วโลก เพื่อขยายช่องทางการชำระเงินให้กับผู้ใช้บริการและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยให้สามารถชำระเงินหรือเติมเงินผ่าน Alipay เมื่อใช้บริการ Grab ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และสร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดีแบบไร้รอยต่อให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน นอกจาก Alipay แล้ว แกร็บยังเตรียมเพิ่มช่องทางการชำระเงินร่วมกับ Kakao Pay ระบบชำระเงินออนไลน์ของเกาหลีใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในไตรมาสที่สามของปีนี้ ” นายวรฉัตร กล่าว

#แกร็บ #Alipay #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share