กองบรรณาธิการ
ปัจจุบันภัยคุกคามจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีหลากหลายรูปแบบ เพื่อป้องกันภัยอันตรายจากโลกไซเบอร์ให้ห่างไกลจากนักเรียนและเยาวชน กรุงเทพมหานครฯ ร่วมกับ AIS และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขยายผลหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ส่งต่อความรู้ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ที่มีทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัลพร้อมยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ของกลุ่มนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ให้มีอยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ผ่านการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว หรือแม้แต่รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องเหมาะกับแต่ละสถาบันการศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษา ของกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นให้การศึกษาเป็นการเรียนรู้ การศึกษาตามตำราต่างๆ มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อาทิ การเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงความรู้และข้อมูลจากโลกดิจิทัล อาชีพ เป็นต้น จะทำอย่างไรให้การออกแบบการศึกษาสามารถที่จะตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ สิ่งที่ทำคือ พยายามปรับโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้มีความทันสมัย พัฒนาให้ดีขึ้น ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีห้องคอมพิวเตอร์ 93 เปอร์เซ็นต์และจะครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในกลางเดือนสิงหาคม ทุกโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครจะมีห้องแล็ปคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้ในห้องมีนโยบายให้เป็นห้องเรียนดิจิทัล (Digital classroom) มีนักเรียน 250,000 คน การเรียนรู้จะเป็นเชิงรุกมากขึ้น (Active learning) ทำให้นักเรียนเข้าถึงความรู้และข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น มีการเสริมสร้างความรู้ทางด้านดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ จึงมีความสำคัญมาก ทางกรุงเทพมหานครจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะนำเข้าไปในหลักสูตรที่มีห้องแล็ปคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่สำคัญต่อไป โดยเฉพาะเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานบนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีและมิจฉาชีพ ซึ่งความร่วมมือกับ AIS รวมถึงกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครให้ยกระดับไปอีกขั้น ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว ให้แก่นักเรียน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา, ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 437 แห่ง ซึ่งจะทำให้ทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ผู้ปกครอง ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
ด้าน นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า เอไอเอสปักหมุดหมายมาตั้งแต่ปี 2019 ในเรื่องของการรู้จักใช้ และจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) จึงเป็นที่มาในการจัดทำหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ในรูปแบบแอนนิเมชั่นและมัลติมีเดียให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของการใช้และการเข้าถึงเทคโนโลยีในปัจจุบันให้เข้าถึงนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและคนไทย ให้เข้าถึงโลกไซเบอร์ได้อย่างปลอดภัย
จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เราอาจจะเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช. โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป
พญ. วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของกรมสุขภาพจิต อยากให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสุข ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกออนไลน์ตั้งแต่ตื่นนอน เป็นโลกคู่ขนานของเรา ดังนั้นความสุขไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงแต่เป็นโลกดิจิทัลด้วย ดังนั้นโลกในความเป็นจริงและโลกดิจิทัล เป็นโลกที่มีความเป็นคู่ขนานทั้งเป็นเรื่องของความจริง ความหลอกลวง กรมสุขภาพจิตจึงได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไป สามารถใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้มีความสุข มีความปลอดภัย หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ทำให้ทุกคนได้ทราบไม่เพียงเรื่องหลอกลวง ยังให้ความรู้ในเรื่องของความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีความสุขและมีสุขภาพดีได้ ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้อย่างสบาย เป็นอีกก้าวที่สร้างให้เกิดความสุขและความปลอดภัยทั้งในโลกความจริง และโลกออนไลน์
รศ.ดร.ณรงค์ มั่งคั่ง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ของพันธมิตรเข้าด้วยกัน เพื่อการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เป็นบทเรียนมัลติมีเดียใช้เวลา 3 ชั่วโมง โดยมีการนำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้
1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
#หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ #ภัยไซเบอร์ #นักเรียน #โรงเรียนสังกัดกทม.
#กรุงเทพมหานครฯ #AIS #ภาคีเครือข่ายภาครัฐ #กรมสุขภาพจิต #กระทรวงสาธารณสุข #มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี #ThaiSMEs