PwC เผย 39% ของแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เชื่อว่าองค์กรของตนจะไปไม่รอดในทศวรรษหน้า หากยังยึดติดกับการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม

กองบรรณาธิการ

PwC เผยรายงานผลสำรวจ Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ประจำปี 2566 ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวนกว่า 19,500 รายพบ 39% เชื่อว่า องค์กรที่ตนทำงานอยู่จะไม่สามารถอยู่รอดได้มากกว่า 10 ปี หากยังยึดติดกับการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม เปรียบได้กับ 53% ของซีอีโอในภูมิภาคที่มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันนี้ในรายงานผลสำรวจซีอีโอ ประจำปี 2566 ซึ่งถือเป็นการยืนยันว่า ผู้นำธุรกิจจะต้องเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาด้านบุคลากร

จุดจบของ การลาออกครั้งใหญ่ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงห่างไกล

พนักงานในภูมิภาคนี้ มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป ถือเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนคิดว่า ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุด รายงานพบว่า ประมาณ 30% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า (เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565) โดยจำนวนผู้ที่ต้องการลาออกนั้น สูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (เจนซี และมิลเลนเนียล) พนักงานระดับอาวุโส และพนักงานที่ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ประมาณ 40% ยังมีแนวโน้มที่จะขอขึ้นเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่งภายในระยะเวลาเดียวกัน

ทักษะในสถานที่ทำงานมีการพัฒนา แต่ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญมากที่สุดภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทักษะของแรงงานจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต อย่างไรก็ดี พนักงานที่ตอบแบบสำรวจอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป โดยมีเพียง 44% ที่เชื่อว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายในอีกห้าปีข้างหน้า และมีเพียง 48% เท่านั้นที่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งหากพนักงานไม่เตรียมตัวหรือเข้าใจว่าข้อกำหนดในการทำงานนั้นอาจเปลี่ยนไป พวกเขาก็จะไม่สามารถเตรียมตัวเพื่อรับมือกับอนาคตได้อย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ พนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้จัดอันดับให้ทักษะด้านบุคลากร เช่น ความสามารถในการปรับตัว/ความยืดหยุ่น (69%) การทำงานร่วมกัน (67%) และการคิดวิเคราะห์ (66%) อยู่เหนือทักษะด้านเทคนิค หรือธุรกิจหลัก อย่างไรก็ตาม ยังมีทักษะอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ โดยน้อยกว่าครึ่ง (48%) รู้สึกว่า นายจ้างให้โอกาสตนในการใช้ทักษะอย่างมีประสิทธิภาพในอีกห้าปีข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังแรงงานอาจมีทักษะที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้

แรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่มองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในเชิงบวก

กำลังแรงงานทั่วทั้งภูมิภาคเข้าใจถึงประโยชน์ของเอไอ โดย 41% กล่าวว่า เอไอจะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน และ 34% มองว่า เป็นโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่ 22% ยังขาดความมั่นใจในการเสริมสร้างทักษะที่เกี่ยวกับเอไอ นอกจากนี้ 16% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า เอไอจะเข้ามาทดแทนงานของพวกเขา ขณะที่แรงงานในอัตราร้อยละที่เท่ากันก็รู้สึกว่า เอไอจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ

กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม ตลอดจนบริการทางการเงิน มองเห็นศักยภาพสูงสุดในการปรับปรุงความสามารถในการผลิตด้วยเอไอ ในทางตรงกันข้าม พนักงานในกลุ่มสุขภาพและภาครัฐมีความมั่นใจสูงสุดว่า เอไอจะไม่เข้ามาทดแทนบทบาทหน้าที่ใด ๆ ของตน

ในขณะที่กำลังแรงงานยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป การเป็นผู้นำในรูปแบบใหม่จึงมีความจำเป็นต่อการนำพาองค์กรไปสู่เส้นทางแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ รายงานของเรา ได้นำเสนอข้อควรพิจารณาหลายประการสำหรับนายจ้างและผู้นำองค์กรในการทำความเข้าใจบุคลากรของตนให้ดีขึ้น ปลดล็อกความสามารถให้เพิ่มขึ้น และบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น

แม้แรงงานไทยจะพึงพอใจกับงานที่ทำในปัจจุบัน แต่ยังมีแนวโน้มที่ต้องการเปลี่ยนงานสูง 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานพบว่า 79% ของกำลังแรงงานไทยที่ตอบแบบสำรวจ มีความพึงพอใจมากหรือปานกลางกับงานของตน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิกที่ 57% อย่างไรก็ดี บุคลากรเหล่านี้ยังคงมีความต้องการจะเปลี่ยนงานมากขึ้นเช่นกัน โดย 30% กล่าวว่า ต้องการเปลี่ยนนายจ้าง เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปีก่อน ขณะที่ 70% เชื่อว่า ทักษะในการทำงานของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอีกห้าปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค (เปรียบเทียบกับ 44% ของเอเชียแปซิฟิก) และ 77% มองว่า ทักษะด้านดิจิทัลจะมีความสำคัญต่ออาชีพของพวกเขาเป็นอย่างมาก

ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่กำลังแรงงานไทยมีทัศนติเชิงบวกต่องานของตนมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกน่าจะมาจากสามปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้

1. กำลังแรงงานไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน อีกทั้งยังสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นและเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งได้รับการยอมรับจากหัวหน้างาน เห็นได้จากผลจากการสำรวจด้านการยอมรับและความสามารถในการเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริงในสถานที่ทำงาน และการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและความยุติธรรมของไทยที่สูงกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (70% ของไทย เทียบกับ 52% ของเอเชียแปซิฟิก และ 71% ของไทย เทียบกับ 53% ของเอเชียแปซิฟิก ตามลำดับ)

2. กำลังแรงงานไทยเห็นว่างานที่พวกเขาทำอยู่เชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ขององค์กรและเป้าหมายส่วนบุคคล ทำให้รู้สึกว่างานที่ตนทำนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย โดย 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า งานของพวกเขาสามารถเติมเต็มจิตใจได้ สูงกว่าเอเชียแปซิฟิกที่ 51% 

3. กำลังแรงงานไทยมองเห็นความก้าวหน้าและโอกาสในการเรียนรู้เพื่อเติบโตในสายอาชีพและพัฒนาตัวเองในสถานที่ทำงาน ซึ่งตรงกับอุปนิสัยของเจ็นวายและเจ็นซีที่ชอบเรียนรู้ และลองทำสิ่งใหม่ ๆ

“แม้ว่าแรงงานไทยจะพึงพอใจกับงานที่ทำอยู่ แต่เรายังคงต้องเผชิญกับกระแสการลาออกครั้งใหญ่ต่อไป และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นด้วย เพราะพนักงานส่วนมากต้องการงานที่เพิ่มรายได้ให้กับตัวเองเพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในทุก ๆ ปี ด้วยเหตุนี้ นายจ้างจะต้องวางกลยุทธ์และยุทธวิธีต่าง ๆ ในการรักษาทาเลนต์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว ให้โอกาสในการเรียนรู้และการแสดงความสามารถ ยกระดับทักษะด้านดิจิทัล และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเชื่อมโยงเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานกับเป้าหมายขององค์กร โดยองค์กรจะต้องแสดงค่านิยมหลักที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะนี่จะเป็นรากฐานในการดึงดูดทาเลนต์ในระยะยาว” ดร. ภิรตา กล่าว

#PwC #แรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก #Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ประจำปี 2566 #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share