กองบรรณาธิการ
จากกรณีที่กฎหมาย Digital Platform Services จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประกาศดีเดย์ ผู้ให้บริการดิจิทัล แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซที่มีรายได้ 50 ล้านบาทต่อปี มีจำนวนสมาชิกผู้ใช้บริการดิจิทัล 50,000 รายต่อเดือน ต้องจดแจ้งผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มภายใน 90 วันหรือภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อรองรับ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย Digital Platform Services (กฎหมาย DPS) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการดิจิทัลขนาดใหญ่ คือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนิติบุคคลและผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้บริการ 50,000 รายต่อเดือน มีรายได้ 50 ล้านบาทต่อปี และผู้ให้บริการดิจิทัลรายบุคคลที่มีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องมีหน้าที่จดแจ้งให้ สำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรโดยมีการกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ
จะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักรภายใน 90 วัน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม จนถึง วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566
หากไม่มีการจดแจ้งภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้ใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มและอีคอมเมิร์ซจะมีบทลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“กฏหมาย PDS เพื่อกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงธุรกิจ e-marketplace ต่างๆ ต้องมีการกำกับดูแล เพื่อให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มให้บริการผู้ใช้บริการได้อย่างปลอดภัย เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน” นาย ชัยวุฒิ กล่าวและว่า สำหรับประชาชนที่ขายสินค้าออนไลน์ ยูทูปเปอร์ กฎหมายยังไม่มีการกำกับให้ต้องจดแจ้งการให้บริการกับ ETDA เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีคามเสี่ยงต่ำ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายมีความควบคุมในทุกด้าน ETDA จะมีการจัด การแสดงความคิดเห็นสาธารณะ (Public hearing) ครั้งที่ 4 ในวันที่ 26 มิถุนายนในเรื่อง การยืนยันตัวตนเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่ดี หรือ Best Practices ซึ่งปัจจุบันธุรกิจต่างๆ มีการยืนยันตัวตนมี 4 รูปแบบ ประกอบการ การยืนยันผ่าน อีเมล์, SMS, เบอร์โทรศัพท์ และบัตรประจำตัวประชาชน นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยเปิดให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนโดยใช้ระบบดิจิทัลไอดี ของกรมการปกครองหรือ ThaIDด้วย
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดโต๊ะหารือ 2 ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Pantip – Blockdit” ถึงวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการผ่าน User ID เร่งดัน “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ” สู่การสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) และการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ภายใต้ กฎหมาย Digital Platform Services ด้วย
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ ETDA จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best-practice) หรือมีกลไกในการคุ้มครองผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการดูแล ป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ ผ่านกลไกการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งาน เนื่องจาก Pantip และ Blockdit ถือเป็นตัวอย่างผู้ให้บริการ social media ที่มีการใช้กลไกการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการ หรือ User ID ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องและมีบัญชีผู้ใช้บริการที่ยังใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก จากพูดคุยพบว่า ทั้ง 2 ผู้ให้บริการได้มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน คือมีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งานตามความเสี่ยงของการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปที่มีความเสี่ยงน้อย ก็จะเน้นลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ชื่อ-สกุล อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ขายสินค้า ก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ อย่าง Digital ID ที่ออกโดยแอพพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง ซึ่งจากการให้บริการของ 2 แพลตฟอร์ม พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความตระหนักในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน หรือ สมัครเข้าใช้บริการ โดยเฉพาะการกรอกเลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมครั้งนี้ จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะที่จะนำไปปรับปรุง “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ” กฎหมายลำดับรองภายใต้ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น Public Hearing ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ลดการฉ้อโกงออนไลน์ โดยเนื้อหาของร่างคู่มือฉบับนี้ จะครอบคลุมทั้ง การจัดประเภทผู้ใช้งานที่ควรพิสูจน์และยืนยันตัวตน กำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน List ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล การแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่าดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว โดย (ร่าง) คู่มือ ฉบับดังกล่าว นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของการสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม สอดคล้องตามเจตนารมณ์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ สำหรับผู้ประกอบการดิจิทัลแพลตฟอร์มที่คาดว่าจะมาจดแจ้งประมาณ 1,000 ราย
ในปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำความผิดผ่านออนไลน์จำนวน 60,000 กรณี และเป็นการโกงจากการซื้อขายออนไลน์จำนวน 30,000 กรณี
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กฎหมาย DPS เพิ่มเติมได้ที่ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx หรือที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand
#ดีอีเอส #ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม #กฎหมายDigitalPlatformServices #ThaiSMEs