กองบรรณาธิการ
หลังจากที่ได้เปิดตัวบริการ Microsoft 365 Copilot ไปเมื่อต้นปีนี้ ไมโครซอฟท์ได้ประกาศเดินหน้าขยายให้ลูกค้าทั่วโลกได้มีโอกาสทดลองใช้งาน Microsoft 365 Copilot กันมากขึ้น และเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัย Work Trend Index 2023 ถึงมุมมองเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตการทำงานยุค AI ภายใต้หัวข้อ Will AI Fix Work?
รายงาน Work Trend Index 2023 นี้ รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คนในอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุม 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยและตลาดอื่นๆ อีก 13 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังประมวลข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านล้านรายการจากอีเมล การประชุมออนไลน์ และระบบแชทใน Microsoft 365 รวมทั้งแนวโน้มตลาดแรงงานจาก LinkedIn โดยข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่าการทำงานในปัจจุบันต้องการความรวดเร็วในระดับที่เกินกว่าพนักงานจะตามทัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถของพวกเขาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับองค์กร ดังนั้น เทคโนโลยี AI รุ่นใหม่ๆ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และองค์กรที่ริเริ่มนำ AI มาใช้จะช่วยให้พนักงานหลุดออกจากวงจรการทำงานแบบเดิมๆ มีเวลาไปใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปพร้อมกัน
นางสาวสุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า การมาถึงของ AI ส่งผลให้วิธีการทำงาน ต้องเปลี่ยนไปในทุกด้าน จากเดิมที่มีระบบอัตโนมัติทั่วไปในการทำงาน มาเป็นระบบผู้ช่วยที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างชาญฉลาด ทำให้พนักงานหลุดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่า Digital Debt หรือภาระงานที่เกิดขึ้นจากการโต้ตอบกันทางอีเมล แชท และประชุม จนไม่สามารถไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้
“ในเมื่อการทำงานเปลี่ยนไปเพราะ AI คนทำงานก็ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเช่นกัน พนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยมองว่า AI เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา โดยรายงาน Work Trend Index 2023 ระบุว่าพนักงานไทยถึง 86% ยินดีที่จะมอบหมายให้ AI ทำงานแทนให้ได้มากที่สุดเพื่อลดภาระงานลง ดังนั้น ผู้บริหารในยุคนี้จึงมีทั้งโอกาสและแรงผลักดันให้ต้องเร่งทำความเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อลดความจำเจในการทำงาน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับความเชี่ยวชาญด้าน AI ไปพร้อมๆ กัน” นางสาว สุภาณี กล่าว
รายงาน Work Trend Index 2023 ชี้ให้ผู้นำธุรกิจเห็นถึงข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประการใหญ่ๆ ในการทำความเข้าใจและนำ AI มาใช้ในองค์กรอย่างถูกต้องเหมาะสม
1. Digital Debt ยับยั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่: พนักงานทุกคนล้วนมีภาระในโลกดิจิทัลของที่ทำงาน เพราะมีข้อมูล อีเมล และแชทปริมาณมหาศาลตลอดวันจนไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ในทุกส่วน พนักงานในประเทศไทย 89% รู้สึกว่าไม่มีเวลาและพลังงานมากพอที่จะทำงานให้เสร็จ และคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะเจอกับอุปสรรคเมื่อต้องลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยตัวเอง ขณะที่ข้อมูลเวลาทำงานใน Microsoft 365 ชี้ว่าโดยเฉลี่ย พนักงานใช้เวลาทำงาน 57% ไปกับการติดต่อประสานงาน และเพียง 43% ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ส่วนอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ขัดขวางประสิทธิผลในการทำงานก็คือการประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพ
2. AI พร้อมเป็นพันธมิตรคู่ใจคนทำงาน: พนักงานส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับบทบาทของ AI ในการแบ่งเบาภาระงาน มากกว่าที่จะกังวลว่าตนเองจะถูกแทนที่จนตกงาน ส่วนผู้บริหารส่วนใหญ่ก็มีความตั้งใจที่จะนำ AI มาสนับสนุนพนักงานให้ทำงานได้ดีขึ้น แทนที่จะนำมาทำงานแทนมนุษย์ สำหรับในประเทศไทย พบว่า 66% ของพนักงานที่เข้าร่วมการสำรวจยังมีความกังวลว่าจะถูก AI แย่งงาน แต่ก็มีถึง 86% ที่พร้อมจะแบ่งงานให้ AI ช่วยให้ได้มากที่สุดเพื่อแบ่งเบาภาระงาน นอกจากนี้ พนักงานไทยราว 9 ใน 10 คนมั่นใจว่าพร้อมแบ่งงานที่ซับซ้อน เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ให้ AI เข้ามาช่วยทำ โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่งานเอกสารหรือธุรการทั่วไป ส่วนในระดับผู้บริหาร พบว่ามีกลุ่มที่สนใจนำ AI มาใช้เสริมประสิทธิภาพในที่ทำงานเป็นจำนวนที่สูงกว่ากลุ่มที่มุ่งลดจำนวนพนักงานด้วย AI ราวหนึ่งในสาม
3. พนักงานทุกคนต้องเชี่ยวชาญ AI: พนักงานทุกคนจะต้องเรียนรู้ความสามารถในด้านใหม่ๆ เช่น การวางโครงสร้างและเขียนคำสั่งสำหรับ AI (prompt engineering) แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน AI เท่านั้น ผู้บริหารในไทยกว่า 90% คาดว่าพนักงานจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในยุค AI ขณะที่พนักงานไทย 86% ระบุว่าพวกเขา ยังขาดความสามารถที่เหมาะสมในการทำงานให้สำเร็จ ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าทักษะใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญด้าน AI จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน พร้อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่แนวทางการเขียนเรซูเม่ไปจนถึงประกาศรับสมัครงาน
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ได้ประกาศโครงการ Microsoft 365 Copilot Early Access เพื่อให้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ 600 รายทั่วโลกได้มีโอกาสใช้งาน AI ในภาคธุรกิจ และไมโครซอฟท์ยังได้เพิ่มความสามารถใหม่ๆ ให้กับ Microsoft 365 Copilot และ Microsoft Viva ดังต่อไปนี้
* Copilot ใน Whiteboard จะช่วยให้การประชุมและระดมความคิดผ่าน Microsoft Teams เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถถาม Copilot ให้ช่วยเสนอแนวคิด จัดระบบไอเดียต่างๆ ให้เป็นกลุ่มชัดเจน สร้างสรรค์งานออกแบบที่สะท้อนถึงแนวคิดนั้นๆ และสรุปเนื้อหาที่เขียนลงใน Whiteboard ได้
* เพิ่มระบบสร้างรูปภาพ DALL-E ของ OpenAI ใน Copilot ของ PowerPoint เพื่อให้ผู้ใช้สามารถขอให้ Copilot สร้างสรรค์ภาพใหม่ๆ ขึ้นมาประกอบกับเนื้อหาในหน้าสไลด์
* Copilot ใน Outlook มาพร้อมคำแนะนำในการเขียนอีเมลให้มีเนื้อหาชัดเจน พร้อมด้วยน้ำเสียงและอารมณ์ที่เหมาะสม เพื่อการสื่อสารอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
* Copilot ใน OneNote พร้อมรับคำสั่งมาช่วยร่างแผน เสนอแนวคิด สร้างรายการ และจัดระเบียบข้อมูล เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
Copilot ใน Viva Learning ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างแผนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ของตนเองมากที่สุด ผ่านการสนทนากับ AI โดยระบบนี้จะรองรับทั้งการวางโครงสร้างหลักสูตรเพื่อเพิ่มพูนทักษะ การค้นหาแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน หรือแม้แต่การจัดตารางเวลาฝึกอบรมตามที่ได้รับมอบหมาย
และเพื่อให้ทุกองค์กรมีความพร้อมในการใช้งาน AI มากยิ่งขึ้น ไมโครซอฟท์ยังได้พัฒนาระบบ Semantic Index for Copilot ที่เริ่มเปิดให้ลูกค้า Microsoft 365 E3 และ E5 ทุกรายได้ใช้งาน โดยระบบนี้สามารถทำความเข้าใจกับระบบข้อมูลและโครงสร้างบุคลากรขององค์กร เพื่อประกอบเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ AI ใน Microsoft 365 Copilot เข้าใจคำสั่งที่ได้รับอย่างชัดเจน และนำเสนอคำตอบหรือผลงานที่ถูกต้อง เหมาะสม พร้อมใช้งาน
นอกจากความสามารถที่กล่าวมาแล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้ประกาศเปิดตัวคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในงาน Build 2023 ดังนี้
* Bing Chat, Microsoft 365 Copilot และบริการ AI copilot อื่นๆ จะรองรับมาตรฐานแบบเปิดสำหรับปลั๊กอินในรูปแบบเดียวกับ ChatGPT ของ OpenAI เช่นในกรณีของ Microsoft 365 Copilot ที่สามารถทำงานร่วมกับปลั๊กอินได้ในสามประเภทหลักๆ ได้แก่ ส่วนขยายสำหรับการใช้งานแบบข้อความทาง Microsoft Teams, ตัวเชื่อมต่อกับ Power Platform และปลั๊กอินอื่นๆ ของ ChatGPT รวมถึงปลั๊กอินจากพันธมิตรของไมโครซอฟท์อย่าง Atlassian, Adobe และอื่นๆ
* Windows Copilot จะทำให้ Windows เป็นแพลตฟอร์มแรกบนพีซีที่พร้อมมอบระบบผู้ช่วย AI แบบรวมศูนย์ ช่วยให้ผู้ใช้ทำงาน ปรับแต่งการตั้งค่า และเชื่อมต่อกับแอปโปรดของคุณได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ทั้งยังรองรับปลั๊กอินเช่นเดียวกับ Bing Chat และ ChatGPT
* Microsoft Fabric เป็นแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลแบบครบวงจรที่จะช่วยให้องค์กรปลดล็อกศักยภาพของข้อมูลและวางรากฐานสำหรับยุคแห่ง AI ขณะที่ Azure AI Studio ช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำโมเดล AI มาทำงานร่วมกับข้อมูลของตนเองหรือองค์กรได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างประสบการณ์และความเข้าใจในข้อมูลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
#ไมโครซอฟท์ #Microsoft365Copilot #ThaiSMEs