จีเอสเค จับมือ เมดิคาโก ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19

กองบรรณาธิการ

จีเอสเค ร่วมกับ เมดิคาโก ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากพืชและเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 เริ่มกลางเดือนกรกฎาคมนี้

บริษัท แกล็กโซสมิทไคลน์ จำกัด หรือ จีเอสเค  และบริษัท เมดิคาโก ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยเมดิคาโกได้พัฒนาวัคซีน CoVLP โดยใช้อนุภาคคล้ายไวรัสโคโรนา (Coronavirus Virus-Like Particles) ร่วมกับเทคโนโลยีระบบสารเสริมฤทธิ์ชนิด Pandemic Adjuvant ของจีเอสเค วัคซีน CoVLP จะเลียนแบบโครงสร้างของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีในร่างกาย ร่วมกับการใช้สารเสริมฤทธิ์ที่มีความสำคัญในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรค เพราะช่วยเพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยลดปริมาณเอนติเจนที่ต้องใช้ในการผลิตวัคซีนแต่ละโดส ส่งผลให้สามารถผลิตวัคซีนได้ในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น

ผลการทดสอบของวัคซีนทดลอง CoVLP ในสัตว์ทดลอง (pre-clinical) แสดงให้เห็นการสร้างแอนติบอดีที่ยับยั้งเชื้อไวรัส (Neutralizing antibody) ในระดับสูงหลังได้รับวัคซีนที่ใส่สารเสริมฤทธิ์ลงไปเพียงหนึ่งโดส สำหรับการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 (phase 1 clinical) เริ่มขึ้นกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อประเมินผลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพการตอบสนองของภูมิต้านทานของแอนติเจนที่แตกต่างกันใน 3 ระดับ โดยใช้เทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ Pandemic adjuvant ของจีเอสเค ควบคู่ไปกับสารเสริมฤทธิ์จากอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งมีการจัดตารางการให้วัคซีนขนาด 1 โดสและ 2 โดส โดยเว้นระยะห่างในการให้วัคซีน 21 วัน

 โดยหากขั้นตอนการวิจัยทางคลินิกและการขออนุมัติทางกฎหมายสำเร็จลุล่วง จีเอสเคและเมดิคาโกตั้งเป้าจะพัฒนาวัคซีนให้เสร็จสมบูรณ์สำหรับการใช้งานจริงภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 และทั้งสองบริษัทจะประเมินผลเพื่อขยายความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนทดลองป้องกันโรคโควิด-19 หลังการระบาดของโรค ทั้งนี้ ความต้องการอาจสูงขึ้นโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และยังรวมไปถึงความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนทดลองป้องกันโรคติดเชื้อชนิดอื่น ๆ

ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะใช้แพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนของเมดิคาโกที่ใช้พืชเป็นหลัก เพื่อผลิตแอนติเจนวัคซีนโควิด- 19 เทคโนโลยีนี้จะนำใบไม้จากพืชมาใช้เป็นปฏิกรณ์ชีวภาพ (bioreactor) เพื่อผลิตโปรตีน S-spike ที่สามารถประกอบตัวเองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) เพื่อใช้ผลิตวัคซีน CoVLP ทำให้สามารถปรับเพิ่มลดขนาด จึงเป็นประโยชน์ต่อการผลิตวัคซีนในปริมาณมหาศาลในระยะเวลาที่จำกัด เมื่อผสานกับเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของจีเอสเค จึงช่วยให้สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมากถึง 100 ล้านโดสภายในปี 2564 นอกจากนี้ คาดว่าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ในเมืองควีเบค ซิตี้ ประเทศแคนาดา จะแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยโรงงานนี้จะมีกำลังการผลิตวัคซีนมากถึง 1 พันล้านโดสต่อปี

โธมัส บริวเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ จีเอสเค วัคซีน กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้สามารถพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมที่ผสานด้วยเทคโนโลยีแอนติเจนที่ใช้พืชเป็นหลัก และเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ที่ช่วยให้สามารถผลิตวัคซีนได้มากขึ้นในภาวะโรคระบาด ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 บริษัทเชื่อมั่นว่า วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ มีความจำเป็นอย่างมาก รวมทั้งวัคซีนหลังการระบาดของโรคโควิด-19  นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ใช้พืชเป็นหลักได้แสดงประสิทธิภาพในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังมีศักยภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆด้วย

medicago Logo (CNW Group/GlaxoSmithKline Inc.)

บรูซ คลาร์ก ประธานและซีอีโอ เมดิคาโก กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเริ่มขั้นตอนการนำวัคซีน CoVLP ซึ่งใช้เทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ pandemic adjuvant ของจีเอสเค เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ความร่วมมือกับจีเอสเคทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากสารเสริมฤทธิ์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวัคซีน นอกจากนี้ ความร่วมมือกับจีเอสเคยังช่วยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาของเมดิคาโกในเรื่องต่างๆ อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share