คู่มือมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ฉบับประจำปี 2567 เจาะลึกอาหารใต้ จัดอันดับร้านอาหารเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานี

กองบรรณาธิการ

มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ประกาศขยายฐานการจัดทำคู่มือฉบับปี 2567 เข้าสู่เกาะสมุยและแผ่นดินใหญ่ของสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้คู่มือฉบับล่าสุดซึ่งเตรียมเปิดตัวปลายปีนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างยิ่งขึ้น ได้แก่ กรุงเทพฯ (ตั้งแต่ปี 2561), ภูเก็ตและพังงา (ตั้งแต่ปี 2562), เชียงใหม่ (ตั้งแต่ปี 2563), พระนครศรีอยุธยา (ตั้งแต่ปี 2565), ภาคอีสาน (ตั้งแต่ปี 2566) รวมถึงเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานี

มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย เผยคู่มือฉบับประจำปี 2567 ซึ่งมีกำหนดตีพิมพ์เผยแพร่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 จะขยายขอบเขตคัดสรรร้านอาหารเข้าสู่เกาะสมุย เกาะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของไทยรองจากเกาะภูเก็ต ตลอดจนแผ่นดินใหญ่ของ สุราษฎร์ธานี จังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้  การขยายขอบเขตพื้นที่ในการคัดสรรและจัดอันดับร้านอาหารครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการเจาะลึกเอกลักษณ์และวัฒนธรรมด้านอาหารของภาคใต้เพิ่มเติมจากจังหวัดภูเก็ตและพังงาซึ่งคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ ได้เริ่มดำเนินการจัดอันดับมาตั้งแต่ฉบับปี 2562 แต่ยังเป็นการตอกย้ำความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของอาหารไทยให้นักชิมทั่วโลกได้รับรู้

มร.เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ มิชลิน ไกด์ ทั่วโลก เปิดเผยว่า ผู้ตรวจสอบของมิชลิน ไกด์ พบว่าเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานีมีมนต์เสน่ห์และสิ่งที่น่าสนใจรอให้ค้นพบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่งดงาม มรดกทางวัฒนธรรม และอาหารที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวและรสชาติที่เข้มข้น โดยอาหารท้องถิ่นหลายชนิดไม่สามารถหาได้ในภูมิภาคอื่นของประเทศ อีกทั้งวัตถุดิบท้องถิ่นที่สดใหม่ โดยเฉพาะอาหารทะเลในพื้นที่ ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของความอร่อย นอกจากอาหารท้องถิ่นและอาหารนานาชาติที่มีให้เลือกมากมายแล้ว เกาะสมุยและสุราษฎร์ธานียังมีสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์สวยงาม ผู้คนท้องถิ่นมีอัธยาศัยที่เป็นมิตรอบอุ่น ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผู้ตรวจสอบของมิชลิน ไกด์ รู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง

สุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยใกล้กับปากแม่น้ำตาปี โดยได้ชื่อว่าเป็น “เมืองร้อยเกาะ” เนื่องจากมีพื้นที่ครอบคลุมหมู่เกาะจำนวนมากซึ่งรวมถึงเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สุราษฎร์ธานีจึงเป็นแหล่งผลิตอาหารหลักสำหรับภูมิภาคและทั้งประเทศ โดยสินค้าขึ้นชื่อได้แก่ หอยนางรม กุ้งแม่น้ำ และไข่เค็มที่ทำจากไข่เป็ด  สำหรับเกาะสมุยซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน ซึ่งรวมถึงการมีร้านอาหารไทยและร้านอาหารนานาชาติให้เลือกมากมาย อีกทั้งยังมีโรงแรมที่พักหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่โรงแรมระดับ 5 ดาว, รีสอร์ทหรูระดับโลก, โรงแรมสไตล์บูติกในท้องถิ่น ไปจนถึงที่พักราคาย่อมเยา

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโต เนื่องจากประสบการณ์ด้านอาหารท้องถิ่นช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งยังเพิ่มคุณค่าให้กับประสบการณ์การท่องเที่ยวโดยรวม เรียกได้ว่า “อาหาร” เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) หรืออิทธิพลทางวัฒนธรรมระดับโลกที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนประเทศไทย

“หลังจากต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 มานานถึง 3 ปี ขณะนี้ภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานีเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ดีและเศรษฐกิจท้องถิ่นเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสถิตินักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเมื่อเทียบกับปี 2564 ส่งผลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงขึ้นมากกว่า 900% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 600% สะท้อนถึงศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้อย่างดี”

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่คู่มือ มิชลิน ไกด์ ประจำปี 2567 ขยายขอบเขตเข้าจัดอันดับร้านอาหารบนเกาะสมุยและแผ่นดินใหญ่ของสุราษฎร์ธานีถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจร้านอาหารในท้องถิ่นที่จะได้ต้อนรับนักชิมจากทั่วทุกมุมโลกให้มาสัมผัสรสชาติและวัฒนธรรมอาหารที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว นอกจากนี้ มิชลิน ไกด์ ยังเป็นสื่อกลางนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วประเทศไทยโดยเจาะลึกมากยิ่งขึ้นในแต่ละปี เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของอาหารไทย

#มิชลินไกด์ #ThaiSMEs #คู่มือมิชลินไกด์ประเทศไทย2567 #อาหารใต้ #จัดอันดับร้านอาหารเกาะสมุยและสุราษฎร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share