กองบรรณาธิการ
ไลน์ เผยประเทศไทยมีผู้ใช้ 46 ล้านคน พร้อมประกาศความสำเร็จการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้วิสัยทัศน์ Life on LINE เปิดเผยตัวเลขการใช้งานในไทยเติบโตกว่า 2 ล้านคนใน 1 ปี ทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งที่ผู้ใช้งานใช้เวลาบนแพลตฟอร์ม โดยเฉลี่ยถึง 1/3 ของเวลาที่ผู้ใช้ออนไลน์ มุ่งเดินหน้าเสริมความสะดวกผู้ใช้งานและศักยภาพธุรกิจไทยในยุคดิจิทัล พร้อมเป็นแพลตฟอร์มที่ใช่สำหรับ New Normal Lifestyle
พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ ช่วง lockdown ผู้ใช้ไลน์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก ผู้ใช้ 44 ล้านคน ในปีที่ผ่านมาและขยับขึ้นเป็น 46 ล้านคนนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากไลน์มีแพลตฟอร์มที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้ใช้อย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของผู้ใช้ทั่วไปธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ
ในปี 2562 LINE ประเทศไทย ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Life on LINE ด้วยการเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย (Life Infrastructure) โดยได้ดำเนินกการพัฒนาต่อยอดบริการใหม่ๆ ตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ส่งผลให้เกิดผู้ใช้งานใหม่จำนวนเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 2 ล้านคนในเวลาเพียง 1 ปี
ความสำเร็จของ LINE ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิตสำหรับ New Normal Lifestyle นั้น เห็นได้ชัดเจนจากการใช้บริการต่างๆ บนแพลตฟอร์ม LINE ในช่วงสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีผลกับการดำเนินชีวิตทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันที่ต้องมีการรักษาระยะห่าง การทำงานแบบ Work From Home การใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ซึ่งภายใน Ecosystem ของ LINE นั้น มีบริการครบถ้วนให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ โดยในช่วง lock down มีผู้ใช้งาน
LINE Call มียอดการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้นเกิน 200% เมื่อเทียบเดือนม.ค. และ มี.ค. 2563 ทั้งการใช้งาน Voice call และ VDO call ด้วยเหตุนี้ LINE จึงพัฒนาฟีเจอร์ ฟังก์ชันเพิ่มเติมทั้งในส่วน LINE Call และ LINE on Desktop อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทยบนแพลตฟอร์ม LINE ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ Watch Together ให้แชร์หน้าจอหรือดูวิดีโอ Youtube พร้อมกันใน LINE Group Call ได้ และเพิ่มจำนวนคนรองรับ LINE Call ได้มากสุดถึง 500 คน
LINE Official Accout ธุรกิจการค้าขายสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จำนวน LINE OA เพิ่มจาก 3 ล้านเป็น 4 ล้านบัญชี ณ เดือนพฤษภาคม 2563 ไม่เพียงแต่พัฒนาในส่วนโซลูชั่น เครื่องมือในการทำธุรกิจออนไลน์ แต่ LINE ยังนำเสนอแนวคิด (Growth Mindset) กลยุทธ์ (Growth Strategy) ในการทำธุรกิจออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนให้แบรนด์ไทยเติบโตบนโลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
ยอดการเติบโตของจำนวนร้านค้าที่ใช้ MyShop เพิ่มสูงขึ้นถึง 180% (ณ เดือนเม.ย. เติบโตจากต้นปีคือเดือน ม.ค. 2563) โดยปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าบน LINE Official Accoint ที่ใช้เครื่องมือ MyShop เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 138%
LINE MAN ผู้ช่วยเบอร์หนึ่งที่ทำให้ได้รับประทานของอร่อยโดยไม่ต้องออกจากบ้าน มีการใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึง 300 % เทียบกับการใช้งานในสถานการณ์ปกติ
สำหรับสินค้าในหมวดอาหารที่ได้รับความนิยมในการสั่งผ่านไลน์แทนประกอบด้วย อาหารไทย อาหารอีสาน อาหารตามสั่งและอาหารปิ้งย่าง
“ผมมองว่าแม้ว่าจะมีการ lockdown ไลน์ยังพัฒนาแพลตฟอร์มตอบโจทย์ผู้ใช้ ธุรกิจและภาครัฐในการให้บริการประชาชนผ่านไลน์ เรามุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคและจะมีการปรับเปลี่ยนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ แพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้งานในกลุ่มคอร์ปอเรท ร้านค้าขนาดเล็กและไฟแนนท์เชียลโซลูชั่น” พิเชษฐ กล่าว
นอกจากนั้น ความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง คือ LINE ได้ทำหน้าที่ของแพลตฟอร์มเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เมื่อกลไกทางเศรษฐกิจหลายย่างต้องหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 LINE ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้กลไกเหล่านั้นเดินหน้าต่อ อาทิ โครงการ Find Food ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ โครงการ “ห้าง ททท. ช้อปฟินกินเที่ยวทั่วไทย” ที่นำงานแฟร์ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์ม LINE ให้ลูกค้าได้ช้อปกันง่ายขึ้น กระจายรายได้ไปยังโรงแรม และธุรกิจบริการทั่วประเทศได้อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่ธุรกิจยานยนต์ที่นำแพลตฟอร์ม LINE ไปใช้ประโยชน์ในการสื่อสารข้อมูลรถยนต์กับลูกค้า รวมถึงการทำนัด Test Drive ได้ถึงบ้าน รวมถึงแบรนด์เครื่องสำอางใหญ่ๆ ก็ยังหันมาทำธุรกิจอีคอมเมิร ซกันมากขึ้นในช่วงที่หน้าร้านในห้างสรรพสินค้าไม่สามารถเปิดให้บริการได้
นอกจากนี้ พิเชษฐ กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญในการการผลักดัน LINE ประเทศไทยให้เติบโต ประกอบด้วย ทัศนคติ ความรวดเร็ว เข้าใจและเข้าถึง และจกระดับชีวิตของทุกคน
ทัศนคติ (Mindset) ทัศคติที่เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นความคิดของตัวเอง ที่ LINE เรามีวัฒนธรรมองค์กรข้อหนึ่ง ในการมองปัญหาให้เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้เสมอ เหมือนกับการพัฒนาบริการของ LINE ที่พัฒนามาจากปัญหาที่ผู้บริโภคประสบอยู่ LINE เรียนรู้จากปัญหาเหล่านี้ เพื่อนำเสนอทางแก้ปัญหาที่ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น
ความรวดเร็ว (Agility) เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แบรนด์ องค์กร หรือคนในยุคนี้ จึงต้องมีการปรับตัว รับมือกับการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้เปลี่ยนไปทุกวัน การพัฒนาบริการของเราต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว ให้ทันเช่นกัน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบสนองทุกความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าทุกระดับ ปิดการขาย จนสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้ LINE OA ถึง 4 ล้านแอคเคาท์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
เข้าใจและเข้าถึง (Humanization) เป็นแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของ LINE ที่เราคำนึงถึงมาโดยตลอด เราศึกษาและทำความเข้าใจในพฤติกรรมผู้ใช้งาน สังคม และวัฒนธรรม และนำมาปรับใช้กับในแต่ละประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสร้างสรรค์ประโยชน์ ออกแบบบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และให้บริการอย่างดีที่สุด
ยกระดับชีวิตของทุกคน (Elevation) ทุกบริการที่ LINE สร้างสรรค์ออกมา จะต้องช่วยยกระดับชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นรอบด้านตั้งแต่บริการพื้นฐานของ LINE ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการสื่อสาร ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ถึงแม้ที่ผ่านมา LINE จะประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจมาก เป็นที่นิยมจนเรียกได้ว่ากลายเป็นปัจจัย 5 ในการใช้ชีวิตของคนไทย แต่ LINE ยังเห็นถึงความท้าทายอยู่มากในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดเดาไม่ได้ เช่นเมื่อเกิดวิกฤต โควิด-19 ขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับมัน ใครที่ปรับตัวได้เร็วก็จะได้เปรียบ LINE สามารถตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานได้ทั้งหมดของการใช้ชีวิต วิกฤตนี้ถึงแม้จะกระทบในหลายภาคส่วน แต่ LINE ก็ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ด้วย ecosystem ที่ครบวงจรและพร้อมรองรับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” พิเชษฐ กล่าว