กองบรรณาธิการ
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้โครงข่ายสื่อสาร และการจัดการพลังงานในองค์กร เป็นความร่วมมือดำเนินการศึกษาด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วย Digital Platform การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีความร่วมมือกันในการพัฒนางานด้านธุรกิจพลังงานสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย ทันสมัย สามารถนำออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มั่นคง และปลอดภัย
พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ กฟภ. ในระยะเวลา 5 ปี มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเป็นโครงการต้นแบบของการร่วมมือกันดำเนินการศึกษาด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Rooftop การบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ด้วย Digital Platform ของ กฟภ. การใช้งานโครงข่ายเทคโนโลยีทรัพยากรด้านการสื่อสาร รวมทั้งการนำ Digital Technology ของ NT มาสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยีมาปรับให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาวะการใช้งานภายในพื้นที่ของ NT เพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการร่วมมือกันนี้ตอบโจทย์การยกระดับและการขับเคลื่อนโครงการจัดการพลังงานในองค์กรให้มีความปลอดภัย สะดวก คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ในความร่วมมือปีแรก NT มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในหน่วยงานเป็นยานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือ รถยนต์ EV มาใช้ทดแทนรถยนต์ทั่วไปที่สัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ และมีแผนที่จะเพิ่มการใช้งานของรถยนต์ในหน่วยงานเป็นรถยนต์ EV อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน NT มีรถยนตืที่ใช้ในหน่วยงานประมาณ 4,000 คัน
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ. มีนโยบายในการสนับสนุนเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงการนำพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทนในส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้กับสถานประกอบการ โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจที่จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน ในการนำศักยภาพที่มีนำมาต่อยอด โดย กฟภ. จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการโครงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Rooftop โครงการจัดหายานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือ รถยนต์ EV ระบบอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Faclity) รวมทั้งการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ที่อาจจะเกิดเหตุขัดข้องของอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือชำรุดเสียหายอย่างกะทันหัน Corrective Maintenance (CM) และเชิงป้องกัน Preventive Maintenance (PM) รวมถึงสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจัดหารถยนต์ EV ตามความต้องการในการใช้งานอีกด้วยก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ กฟภ. ยังมีแผนที่จะจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ EV บนถนนสายหลักทุก 100 กิโลเมตร เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้รถยนต์ EV ด้วย
ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้นอกเหนือไปจากการสำรวจ ออกแบบ และกำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน การกำหนดคุณสมบัติอุปกรณ์ การจัดหาอุปกรณ์ และการได้รับอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพทดแทนไว้ใช้งาน และที่สำคัญเกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถลดงบประมาณด้านการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าได้อีกด้วย และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
#NT #การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค #กฟภ. #ThaiSMEs