กองบรรณาธิการ
กลุ่มสามารถประกาศทิศทางธุรกิจปี 66 ตั้งเป้ารายได้ทั้งกลุ่มที่ 16,000 ล้านบาท เติบโต 75% ด้วยปัจจัยบวกการเปิดประเทศ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึง การเร่งพัฒนาองค์กรและบริการภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล หลังโควิดคลี่คลาย บวกกับความพร้อมของบริษัทหลังปรับทัพเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในยุคดิจิทัล ปีนี้ จึงมั่นใจว่าทุกธุรกิจในเครือจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะนำบริษัท Samart Aviation Solutions หรือ SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 3
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทสามารถกำหนดให้ปี 2566 เป็นปีของการ Take off to Sustainability เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีปัจจัยบวก อาทิ การเปิดประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน การเร่งพัฒนาองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงาน Public Services ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในยุคดิจิทัล ทั้งหมดล้วนส่งผลบวกต่อโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มสามารถ
สายธุรกิจ Digital ICT Solution ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 จำนวน 6,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14 เปอร์เซ็นต์
นายจง ดิลกสมบัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. สามารถเทลคอม กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถเทลคอม มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ 13% เปอร์เซ็นต์ โดยมีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่ มูลค่ารวม 5,300 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่างานในมือปัจจุบันถึง 7,300 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทตั้งเป้ารายได้จำนวน 6,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14% เปอร์เซ็นต์ ด้วยความมั่นใจในศักยภาพของทีมงานและประสิทธิภาพของโซลูชั่นส์ที่องค์กรระดับประเทศมากมายเลือกใช้ อาทิ ERP Solutions, Cyber Security Solutions, Smart CCTV, Payment Connecting Platform, Transmission Networks และอื่นๆ จะเห็นได้ว่าทุกโซลูชั่นส์ที่บริษัทมุ่งเน้น สามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการทรัพยากรและการพัฒนาองค์กรในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงน่าจะมีโอกาสในการต่อยอดและการขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ตามที่คาดหวัง โดยตั้งเป้าในการเซ็นสัญญาใหม่ในปีนี้ ถึงกว่า 10,000 ล้านบาท
สายธุรกิจ Utilities & Transportations ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,000 ล้านบาทเติบโตเพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์
นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภายใต้สายธุรกิจ U-trans ประกอบด้วย Aviation Solutions ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน, Power Construction & Services ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานีและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง , Other Solutions & Manufacturing ซึ่งรวมบริษัท Vision and Security , โครงการ Direct Coding และบริษัทสามารถวิศวกรรม ล้วนมีผลการดำเนินธุรกิจที่เติบโตในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีรายได้รวมปี 65 เพิ่มขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์
ในปี 2566 ยังคาดการณ์การเติบโตที่ต่อเนื่องในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะ CATS ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา ซึ่งในปี 65 นอกจากจะมีรายได้ที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้รับการต่ออายุสัมปทานอีก 10 ปี รวมอายุสัมปทานทั้งสิ้น 49 ปี ให้บริการมาแล้ว 20 ปี จึงยังคงเหลืออายุสัมปทานถึง 29 ปี โดยปีนี้ คาดว่า CATS จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายเร่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนมีแผนการเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ถึง 3 แห่งในเร็วๆนี้ ดังนั้น ในราวไตรมาส 3 ของปี2566 บริษัทจึงมีแผนนำบริษัท Samart Aviation Solutions หรือ SAV ซึ่งถือหุ้น CATS เข้าจดทะเบียนใน ตลท.
ส่วนธุรกิจด้านสถานีและสายส่งไฟฟ้า โดยบริษัทเทด้าและทรานเส็ค ก็มีผลการดำเนินธุรกิจที่บรรลุเป้าในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มี Backlog รวมกัน 2,700 ล้านบาท และมีโอกาสสูงในการได้งานใหม่เพิ่มเติมอีกในปีนี้
ด้านโครงการ Direct Coding หลังเริ่มให้บริการในเดือน พ.ค. ปี 65 ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จำนวน 620 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และในปีนี้ คาดว่าจะรับรู้รายได้จำนวน 980 ล้านบาท สูงขึ้นจากการเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทจะรับรู้รายได้รวม 7 ปีต่อเนื่อง ซึ่งจากประโยชน์ของระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ หรือ Direct Coding นี้ ก็มีโอกาสขยายบริการไปสู่การจัดเก็บภาษีสินค้าอื่นๆ ในอนาคต
สำหรับสายธุรกิจ U-trans บริษัท Vision and Security ผู้ให้บริการกล้องวงจรปิดครบวงจร มีรายได้ในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ด้วยผลงานการติดตั้งกล้องวงจรปิดภาคใต้ โดยในปีนี้ยังมีโอกาสในการติดตั้งระบบ CCTV ในโครงการอสังหารายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถต่อยอดและขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในภาคเอกชน
สายธุรกิจ Digital Communications มั่นใจพลิกฟื้นด้วยบริการ DTRS และบริการสายมูครบครัน
นายสุภวัส พรหมวิทักษ์ ผู้จัดการทั่วไป บมจ.สามารถดิจิตอล กล่าวว่า ธุรกิจหลักในการฟื้นรายได้ของสายธุรกิจนี้ คือ การให้บริการ Digital Trunk Radio ซึ่งต้องใช้เวลา ทั้งในการวางระบบและการขยายฐานผู้ใช้บริการ แต่ก็คุ้มค่า เพราะจะนำมาซึ่งรายได้ประจำที่มั่นคงในอนาคต ปัจจุบันการวางระบบเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่สำคัญแล้วทั่วประเทศ โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการค่อยๆ เติบโตเพิ่มขึ้น ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 120,000 ราย และมีโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการอย่างก้าวกระโดดเมื่อโครงการ National Trunk Network มีความชัดเจน
นอกจากนี้ เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ซึ่งถูกจริตคนไทยและคนเอเชีย ที่มีโอกาสเติบโตในยุคดิจิทัล บริษัทจึงเร่งพัฒนาบริการ Application Horoworld และ Thai Merit รวมทั้งบริการสายมูที่แตกต่างและครบวงจรอื่นๆ โดยนอกจากจะให้บริการตรงแก่ Consumer แล้ว ยังเน้นการให้บริการผ่านพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ อาทิ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ, ธนาคาร, Social Platform, โรงพยาบาล, สายการบิน เป็นต้น โดยรวมแล้วคาดว่าปี 2566 จะเป็นปีที่สายธุรกิจ Digital Communications จะมีการฟื้นตัวและการเติบโตที่โดดเด่น จึงตั้งเป้ารายได้จำนวน 5,000 ล้านบาท
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คือ กุญแจสำคัญในการอยู่รอดและเติบโตในโลกธุรกิจ ผมเชื่อมั่นว่ากลุ่มสามารถมีรากฐานที่แข็งแกร่ง และพร้อมที่จะเผชิญกับทุกความท้าทายและการแข่งขัน ในปี 66 จะเป็นปีที่ผลประกอบการรวมของกลุ่มจะเติบโตขึ้น 75 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้ารายได้รวมทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท และการนำ SAV เข้าจดทะเบียนใน ตลท. จะยิ่งสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้แก่กลุ่มสามารถ
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทสามารถ ประกอบด้วย 3 สายธุรกิจ ได้แก่ สายธุรกิจ Digital ICT Solution สายธุรกิจ Digital Communications สายธุรกิจ Utilities & Transportation และมี 3 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น , บมจ.สามารถเทลคอม บมจ.สามารถดิจิตอล ส่วนบมจ.สามารถเอวิเอชั่น จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในไตรมาสสามปีนี้ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และเพิ่มมูลค่าให้แก่กลุ่มสามารถด้วย
#กลุ่มสามารถ #ThaiSMEs