สวทช. นำร่องตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี EECi

กองบรรณาธิการ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) จัดการประชุม kick-off โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับโครงการระบบครุภัณฑ์โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

การจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมฐานชีวภาพของประเทศ ตามนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ส่วน ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน

 เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กล่าวว่า EECi เป็นแหล่งพัฒนางานวิจัยขยายผล หรือที่เรียกกันว่า Translational Research Hub และเป็นแหล่งปรับแปลงเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology Localization) ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีของไทย ที่ด้านหนึ่งก็มีขีดความสามารถสร้างผลงานแล้วระดับหนึ่งในห้องปฏิบัติการ แต่ผลงานที่ได้ส่วนใหญ่ยังส่งไม่ถึงผู้ใช้ประโยชน์ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของไทยที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ที่นำเอาผลิตผลทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการทางเคมีชีวภาพ เป็น ชีวเคมีภัณฑ์ (Biochemicals) ที่สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงวัตถุเจือปนในอาหาร (Food additives) และสารออกฤทธิ์ (Functional ingredients) ที่มีมูลค่าสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและโภชนเภสัชภัณฑ์ (Nutraceuticals)  ซึ่งมีผลงานวิจัยอยู่มากในสหภาพยุโรป โดยใช้ผลผลิตทางการเกษตรของยุโรปเป็นวัตถุดิบ ซึ่งหากเราจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในประเทศไทย ก็ต้องพัฒนาวิธีในการปรับแปลงเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีนี้ให้เข้ากับชีวมวลในไทย เช่น ฟางข้าว ชานอ้อย กากมัน หรือ ทะลายปาล์มของเราให้ได้

การจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) ในเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) ภายใต้ EECi ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย และเป็นเทคโนโลยีมุ่งเป้าสำคัญของ EECi ซึ่งเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีเป็นการแปรรูปชีวมวลด้วยกระบวนการทางกายภาพ เคมี และ/หรือชีวภาพ เพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Bio-based products) ประเภทต่างๆ ได้แก่ ชีวเคมีภัณฑ์  วัสดุชีวภาพ  อาหาร และสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเป็นองค์ประกอบในอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือ โภชนเภสัชภัณฑ์ โดยหลักสำคัญของอุตสาหกรรมคือการให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งเกิดจากการนำวัสดุทางการเกษตร โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) มีบทบาทสำคัญ 3 ประการ คือ

 1) การลงทุนในอุตสาหกรรมฐานชีวภาพจำเป็นต้องมีการประเมินความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคโนโลยี และเชิงเศรษฐศาสตร์ (Techno-economic feasibility) ก่อนที่นำไปผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลในระดับห้องปฏิบัติการไม่เพียงพอที่จะได้ผลการประเมินที่แม่นยำ  

 2)  การพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 2 ส่วนหลัก คือ 2.1) การผลิตผลิตภัณฑ์ (ด้วยกระบวนการทางชีวภาพหรือทางเคมี) และ 2.2) การเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้รวมถึงการทำให้บริสุทธิ์ที่เรียกว่า Downstream Processing ซึ่งในหลายกรณีไม่สามารถทำได้ในระดับห้องปฏิบัติการ จึงทำให้ไม่สามารถคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ หรือไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อทดสอบตลาด และประเมินต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้   

 3) กระบวนการพัฒนาจนได้เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย ต้องมีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน ดังนั้น การขาดหน่วยผลิตระดับขยายขนาดในขั้นตอนกระบวนการผลิตต้นทาง จะทำให้ไม่สามารถผลิตสารในปริมาณที่มากพอ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในขั้นต่อไป จึงทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้

ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีเพื่อเป็นกลไกในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยข้อได้เปรียบที่สำคัญ คือ ความพร้อมของวัตถุดิบตั้งต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบในกลุ่มแป้ง น้ำตาล และวัสดุทางการเกษตรที่เป็นเซลลูโลสที่มีเป็นจำนวนมาก ความพร้อมของเทคโนโลยีและบุคลากรวิจัยในระดับหนึ่ง และภาคเอกชนมีความพร้อมและมีศักยภาพในการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มเติม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share