กองบรรณาธิการ
รายงาน Quarterly Global Outlook ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของธนาคารยูโอบี เผย 10 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศในอาเซียนสามารถรับมือความผันผวนของตลาดในอนาคต
ปี 2565 ถูกรุมเร้าด้วยผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน การหยุดชะงักของอุปทานในกลุ่มพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราเงินเฟ้อสูงในรอบหลายทศวรรษทั่วโลก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเฟดและธนาคารกลางอื่นๆ และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถต้านทานความผันผวนของตลาดการเงินในปี 2565ไว้ได้
รายงานของยูโอบี ได้สรุป 10 ปัจจัยสำคัญที่สะท้อนความยืดหยุ่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับความผันผวนของตลาดตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการรับมือกับความผันผวนของตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน
1. เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 2-3 ของปี 2565 จากการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมาเลเซียมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนในไตรมาส 3 ปี 2565
2. ผลผลิตของประเทศในอาเซียน (ยกเว้นประเทศไทย) กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว จากอุปสงค์การส่งออกและการเปิดเศรษฐกิจใหม่ที่กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
3. การค้าในอาเซียนยังแข็งแกร่ง โดยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ผู้ส่งออกและภาคการผลิตในอาเซียนเป็นผู้ได้ประโยชน์หลัก แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอุปสงค์ทั่วโลกคาดว่าจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและกิจกรรมทางธุรกิจ
4. การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ในอาเซียนอีกครั้งตั้งแต่กลางปี 2565 ทำให้อาเซียนฟื้นตัวเร็วขึ้นจากกระแสนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและตลาดภาคบริการที่ดีดตัวขึ้น ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะเป็นเสาหลักสำหรับเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2566 และเมื่อจีนผ่อนคลายนโยบายปลอดโควิดและเปิดพรมแดนอีกครั้งจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้การท่องเที่ยวในอาเซียนฟื้นตัว
5. อัตราเงินเฟ้อในอาเซียนโดยทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วในปี 2565 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
6. การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามเพิ่มขึ้น ในขณะที่การนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีนลดลงหลังจากปี 2559 ซึ่งโดยรวมจะส่งผลดีต่ออาเซียนในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการส่งออก
7. จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานส่งผลให้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอาเซียนเพิ่มขึ้น 44% ในปี 2564 ทำสถิติสูงสุดที่ 175.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอาเซียนมี FDI ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน
8. ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สะสมเพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ทำให้มีเกราะป้องกันมากขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงิน
9. ความสามารถในการชำระค่านำเข้าเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนความแข็งแกร่ง โดยประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีเงินสำรองเพียงพอสำหรับการชำระค่านำเข้า 3 เดือน
10. ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเงินสำรอง
เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตช้าลงในปี 2566
นายเอ็นริโก้ ทานูวิดฮาฮา นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ กล่าวว่า แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นช่วยให้ตลาดอาเซียนสามารถต้านทานความผันผวนของตลาดการเงินในปี 2565 ได้ แต่คาดว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ท้าทายและมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ภาวะการเงินที่ตึงตัว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ตึงเครียดมากขึ้น และความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงปัจจัยเสริมอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของอาเซียนมุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลักตลอดจนเป็นแหล่งรองรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เราจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงเหล่านี้อาจถูกลดทอนลงบ้างจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมภายในประเทศ การผ่อนคลายข้อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม การเดินทาง ที่พัก และอื่นๆ ภายในประเทศ และเมื่อจีนเปิดพรมแดนอีกครั้งจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
“โดยรวมแล้วเราคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกจะลดลงในปี 2566 โดยตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอังกฤษ มีอัตราการเติบโตที่ลดลงทั้งปี ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักในอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม) คาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงต่ำกว่า 5% ในปี 2566 จากที่สูงกว่า 6% ในปี 2565” นายเอ็นริโก้ กล่าว
#ยูโอบี #รายงานQuarterlyGlobalOutlook #ThaiSMEs