ตลาดออร์แกนิค ออสเตรเลีย โอกาสใหม่ SMEs ไทย

กองบรรณาธิการ

ออสเตรเลียถือได้ว่าเป็นตลาดที่ผู้บริโภคใส่ใจต่อการดูแลรักษาสุขภาพและนิยมในการบริโภคสินค้าออร์แกนิคอันดับต้นๆ ของโลก เพราะชาวออสเตรเลียตระหนักถึงคุณประโยชน์และความสำคัญของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเคมี ได้แก่ สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย และสารเคมีอื่นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของหน้าดิน ลดการสร้างมลพิษ

และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมถึงปราศจากสารปรุงแต่งจำพวกสี กลิ่นและสารกันบูด โดยในปี พ.ศ. 2562 มูลค่าของตลาดสินค้าดังกล่าวมีประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย ตลาดสินค้าออร์แกนิคที่เคยเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีราคาสูงและหาซื้อได้ค่อนข้างยากในอดีตกลายเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีก

ชาวออสซี่ถูกใจสินค้าออร์แกนิค

Australian Organic Market Report 2019 ระบุว่า ครัวเรือนออสเตรเลียร้อยละ 65 หันมาซื้อสินค้าออร์แกนิคเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennial) และเจนเนอเรชั่น Z (Gen Z) ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานที่ตระหนักและให้ความสำคัญถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการบริโภคอย่างยั่งยืนและสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรม สินค้าที่มีเครื่องหมาย Fairtrade Certified product และเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าออร์แกนิคจะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันออสเตรเลียยังไม่มีกฎหมายสำหรับใช้ควบคุมและเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้ระบุสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็น “ออร์แกนิค” อย่างชัดเจน ผู้บริโภคจึงเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิคที่ได้รับตรารับรองสินค้าตามมาตรฐานจากองค์กรหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือได้เป็นหลัก

COVID-19 กระตุ้นตลาดโต

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครซิดนีย์ ระบุว่าออสเตรเลียมีพื้นที่

ทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานออร์แกนิคมีเพียง 36 ล้านเฮกเตอร์และมีผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิค

เพียง 4,802 ราย ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดยังมีจำนวนค่อนข้างจำกัด รวมถึงสินค้าส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ในขณะที่ชาวออสเตรเลียร้อยละ 67 มีความต้องการซื้อสินค้าออร์แกนิคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้ชาวออสเตรเลียให้ความสำคัญต่อการเลือกบริโภคสินค้าออร์แกนิคมากขึ้น เนื่องจากต้องการความมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัยของสินค้า และเพื่อบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อมากที่สุดในช่วงนี้ คือ สินค้าประเภทอาหารเด็ก อาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เนยนม และผลิตภัณฑ์ความงาม จึงทำให้ผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิคในประเทศต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

 ความท้าทายของ SMEs ไทย

จากข้อจำกัดบางประการ ไม่ว่าจะเป็นกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิค ออสเตรเลียเน้นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีจุดแข็งในเรื่องวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายและมีนวัตกรรม แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่ท้าทายคือ การปฏิบัติตามระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าในการนำเข้ามายังออสเตรเลียซึ่งมีความเข้มงวดเพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงการได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าออร์แกนิค ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย Biosecurity Act 2015 กฎหมายด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร Imported Food Control Act 1992 กฎหมายการปิดฉลากและปริมาณสารตกค้าง Food Standards Australia New Zealand (FSANZ) และกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภค Competition and Consumer Act 2010 จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาและพัฒนาสินค้าเพื่อให้ผ่านกฎหมายดังกล่าว

สคต.แนะเทคนิคเจาะตลาด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ได้ให้คำแนะนำในด้านกลยุทธ์เจาะตลาดและภาวะการแข่งขัน ยังมีเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ประกอบการควรสร้างความเข้มแข็งต่อตราสินค้าอย่างต่อเนื่องและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เน้นความหลากหลายของสินค้าและราคาประหยัด ศึกษาแนวโน้มตลาดเพื่อนำไปปรับกลยุทธ์การตลาดในลำดับต่อไป พร้อมเพิ่มแนวทางการผลักดันสินค้าใหม่ๆ

จากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าประเภทอาหารธุรกิจ Hospitality และอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี

เพื่อสร้างโอกาสในการพบปะผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้าในออสเตรเลีย และแนะนำสินค้าออร์แกนิคใหม่ๆ อาทิ

• งาน Naturally Good Expo เป็นงานเจรจาธุรกิจในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติ อาทิ สินค้าออร์แกนิค อาหารเสริม วิตามิน ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์

• งาน Fine Food Australia เป็นงานแสดงสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย (มีโซนสินค้าออร์แกนิคและสินค้าเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก ผู้นำเข้าและบริษัทตัวแทนจำหน่ายได้พบปะและเจรจาธุรกิจร่วมกัน

• งาน Foodservice Australia เป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจบริการอาหารและ Hospitality (มีโซน Vegan Alley และ โซน Food Drink & Equipment) จัดขึ้นทุกปีสลับระหว่างซิดนีย์และเมลเบิร์น

หากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและปฏิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด รวมถึงพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดออสเตรเลีย ก็จะสามารถสร้างโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในออสเตรเลียได้ในอนาคต ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ให้

การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มทีที่ต้องการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ผ่านโครงการ

SMEs Pro-active สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและหลักเกณฑ์โครงการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 และ 02-507-7786

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share