กองบรรณาธิการ
นายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า กทปส. ให้ทุนสนับสนุนโครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย ซึ่งได้รับการจัดสรรทุนประเภทที่ 1 ประจำปี 2561 ตามวัตถุประสงค์มาตรา 52 (2) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมด้วยระบบเทคโนโลยี HoME@Cloud ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมเบรคเกอร์ 4.0 ของนักวิศวกรไทย เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมไฟฟ้ายุคดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งสำคัญคือการจัดการองค์รวมของระบบ IoT โดยอาศัยตู้รวมไฟฟ้าเป็น GATEWAY เปลี่ยนระบบป้องกันไฟฟ้าแบบเก่าเป็นเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าดิจิทัลเพื่อการป้องกันภัยจากไฟฟ้า และได้มีการติดตั้งใช้งานจริงของระบบเบรกเกอร์ 4.0ให้กับองค์กรสาธารณะของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เยาว์และผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังติดตั้งและใช้งานในองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่ รวมกว่า 50 แห่ง โดยในวันนี้ได้เข้ามาเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินการติดตั้งและใช้ระบบ ณ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พันทิปดอทคอม) กรุงเทพฯ และบริษัท สิงโตพลาสติก จำกัด โรงงานพลาสติก จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง 2 แห่งซึ่งรูปแบบารใช้งานจะแตกต่างกันทำให้เห็นความสามารถของการบริหารจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพที่รองรับการใช้งานได้ทั้งองค์กรขนาดเล็กจนถึงใหญ่
สำหรับนวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0เป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาต่อยอดสร้างลานข้อมูลขนาดใหญ่(Platform) สำหรับธุรกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยอาศัยจุดเริ่มต้นของการมีไฟฟ้าใช้ ที่ตู้รวมไฟฟ้า หัวใจสำคัญของระบบจึงจำเป็นที่จะต้องมั่นใจในการป้องกันความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในระบบเดียวและในความเป็นดิจิทัลยังทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาไฟฟ้าขัดข้องที่เกิดขึ้นได้ และสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการใช้พลังงานเป็นวัน สัปดาห์ เดือน ปี รวมทั้งแจ้งเตือนความผิดปกติของปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการประหยัด นำไปสู่โครงสร้างพื้นฐานรองรับความเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศที่มีมาตรฐานเดียวทั่วกัน ทั้งนี้การดำเนินการมอบทุนและสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนฯ เพื่อประโยชน์สาธารณะ นับเป็นการแสดงศักยภาพของนักวิศวกรไทยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางชัชชม สุจริตโศภิต ผู้พัฒนานวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ได้เปิดเผยว่าการได้รับทุนจาก กทปส. ในครั้งนี้เป็นการได้โอกาสที่จะเริ่มต้นวางมาตรฐานด้านดิจิทัลแบบองค์รวมอีกด้านหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบดิจิทัลทั้งหมดของเมืองอัจฉริยะที่จะมีมาในอนาคต โดยอาศัยจุดที่เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งคือไฟฟ้า ที่ทุกอุปกรณ์ไม่อาจทำงานได้หากปราศจากไฟฟ้า และในกระแสไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์ต่างๆใช้งานนั้น ได้บรรจุสารหรือ Intelligence เอาไว้ เมื่อเอาความสามารถทางดิจิทัลมาดิจิไทส์สารในคลื่นไฟฟ้าก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆได้ ซึ่งในโครงการนี้เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ขั้นต้นก่อนคือการป้องกันภัยและการจัดการพลังงานพร้อมมี Gateway เพื่อรองรับ IoT นับเป็นการหลอมรวมกันของระบบสารสนเทศและไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยอาศัยช่องว่างของการมาทดแทนระบบเบรกเกอร์เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการเริ่มต้นมีไฟฟ้าใช้ให้กับอุปกรณ์ภายในบ้าน ซึ่งโครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 นี้ได้สร้างระบบเทคโนโลยีHoME@Cloud ที่เป็น Cloud Platform ทำงานร่วมกับสมองกล REM101 ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่คอยตรวจจับคลื่นไฟฟ้าและตัดสินใจตัดต่อวงจรไฟฟ้าก่อนเกิดภัยทางไฟฟ้าทุกชนิด ให้เกิดความสะดวกสบาย อุ่นใจและควบคุมได้ต่อผู้ใช้ พร้อมส่งผ่านข้อมูลพารามิเตอร์ทางไฟฟ้าไปยัง HoME@Cloud Cloud Platform ที่จะมีระบบบริหารจัดการให้เกิด Self-Thinking Home ให้บ้านเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์ ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเป็นองค์ประกอบในการทำงานผ่านเครื่องมือสื่อสารได้อย่างแท้จริงบนระบบเดียว ไม่ต้องพึ่ง Home HUB เช่น Google อีกต่อไปและยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคต
โดยส่วนตัวมองว่าหากประเทศจะขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล วิกฤตโควิด-19 คือวิกฤตที่สร้างโอกาสให้ประเทศไทยที่จะก้าวข้ามการเป็นผู้บริโภคเทคโนโลยีต่างชาติ ผู้วิจัยเชื่อว่าเทคโนโลยีของโครงการที่เริ่มตั้งแต่ต้นทางที่เปรียบเสมือนประตูก่อนการมีไฟฟ้าใช้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการทำให้ประเทศยืนขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจPlatform จากความจริงที่ว่าทุกความอัจฉริยะต้องใช้ไฟฟ้า และประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีไฟฟ้าที่ทุกผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีจากวันนี้ไป การติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก จะสร้างโอกาสอีกมากมายเช่นเดียวกับที่ APPLE ได้สร้างความสำเร็จมาแล้วจากการพัฒนามือถือที่ทำงานด้วยนิ้วเดียว และมี iOS และ Platform เป็นเหมือน Conduit of Services ไปยังผู้บริโภค
พร้อมกันนี้ทางโครงการยังได้สร้างต้นแบบทดแทนชุด Consumer unit ของ HoME@Cloud (Home Managed Electricity in the Cloud) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัญหาการใช้งาน รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มาพร้อมแอพพลิเคชั่นด้านการจัดการไฟฟ้าและควบคุมสั่งการเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและสำนักงานอัจฉริยะที่มีการติดต่อกับผู้ใช้ที่สามารถควบคุมสั่งงานได้บน HomeOS ลดการเดินทางหรือการสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี 4.0 อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานด้านมาตรฐานในเรื่องที่ต้องมีกระบวนการทดสอบพร้อมเครื่องมือที่ถูกต้อง
โครงการฯ ได้พัฒนานวัตกรรมโดยตั้งเป้าที่จะสร้างผลลัพธ์ผลักดันให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจบนแพลตฟอร์มที่เป็นของคนไทยอย่างแท้จริงที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลผ่านSingle Channel ตรงตู้รวมไฟฟ้า และเน้นการนำผลผลิตที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้จริงโดยการส่งเสริมการปรับปรุงบ้านด้วยตู้รวมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ ยังจะสามารถสร้างงานให้กับประเทศไทยได้มากกว่า 60,000 ตำแหน่ง จากการผลิตสู่การติดตั้ง คิดง่ายๆโดยสมมติฐานที่ว่าให้ช่าง 1 ทีมที่มีประกอบด้วยคนงาน 3 คน ติดตั้งวันละ 3 หลัง ด้วยปริมาณเฉพาะบ้าน (ไม่รวมภาคอุตสาหกรรม) ในประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 20 ล้านหลังคาเรือน ต้องใช้คนไม่น้อยกว่า 60,000 ทีมทีเดียว ที่สำคัญในขณะนี้ทุกประเทศกำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของตู้รวมไฟฟ้านี้ การผลักดันของการใช้ในประเทศจะทำให้ภูมิภาคที่อิงมาตรฐานไทย ได้นำไปดำเนินนโยบายตาม ส่งผลให้ไทยได้ส่งออกนวัตกรรมสู่ตลาดโลก ช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการนำเข้าเบรกเกอร์แบบดั้งเดิม และเกิดความเสียหายทางไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสื่อสารมาสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ให้คนทุกสภาพร่างกายสามารถควบคุมดูแลจัดการตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น สร้างระบบนิเวศน์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการพัฒนาแอพสู่อนาคต
นาย วันฉัตร ผดุงรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Pantip.com เปิดเผยต่อว่า บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ Pantip.comและเว็บไซต์ในเครือ ซึ่งมีทีมงานรวมกันประมาณ 80 ท่าน ทำหน้าที่ ดูแล บริการ และ พัฒนาเว็บไซต์ Pantip.com โดยมีความมุ่งหวังที่จะดำรงแพล็ตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของไทยให้มีมาตรฐานและคุณภาพทัดเทียมของต่างประเทศไว้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับประโยชน์ที่บริษัทฯได้รับจากการติดตั้ง Home@Cloud (Home Managed Electricity in the Cloud) นั้น หลังจากทำการติดตั้งและศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าหลักๆของบริษัทฯได้อย่างชัดเจน รวมถึงเห็นจุดที่อาจเป็นปัญหา ซึ่งช่วยในการวางแผนเพื่อปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี แม้ปัจจุบันทางบริษัทฯทำงานในลักษณะ Work from Home เนื่องจากภาวะระบาดของเชื้อ Covid-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่สูงนัก แต่เชื่อว่าเมื่อทีมงานเริ่มเข้าปฏิบัติงานในที่ตั้ง ข้อมูลที่ได้รับจาก Home@Cloud จะช่วยให้การบริหารการใช้พลังงานภายในองค์กรทำได้ดีขึ้นมาก และคาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็นลงได้ไม่น้อยกว่า 15% และยังมีแผนที่จะนำ Home@Cloud ไปต่อยอดเพื่อบริหารการใช้พลังงานของระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเว็บไซต์เพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งสร้างประโยชน์ในด้านการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก
นอกจากนี้ Home@Cloud ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเองโดยวิศวกรชาวไทย เมื่อมองในภาพรวมด้านสังคมแล้ว เป็นสิ่งที่ Pantip.com รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสให้การสนับสนุน โดยแนวคิดที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า นวัตกรรมที่สร้างและพัฒนาโดยคนไทยเหล่านี้ คือพื้นฐานที่แท้จริงของการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติต่อไปในอนาคต อีกทั้งในมุมของตัวนวัตกรรมเอง ก็มีความน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานที่จุดปลายทางได้อย่างสะดวก ติดตั้งเข้ากับระบบไฟฟ้าเดิมได้ง่าย ซึ่งในอนาคตข้อมูลเหล่านี้ สามารถรวบรวมเป็น Big Data และ ต่อยอดร่วมกับ Artificial Intelligence และ Machine Learning สร้างเป็น Platform เพื่อให้เกิดเป็น Smart Energy Management ซึ่งนำไปใช้ได้ทั้งในภาพใหญ่ระดับ Smart City และในภาพย่อยระดับ Smart Home หรือ ใช้ในงานประยุกต์ต่างๆได้อย่างหลากหลาย
#กทปส #นวัตกรรมเบรคเกอร์4.0 #HomeCloudPlatform #ThaiSMEs