ค่ายรถจีน เล็งขึ้นแท่นผู้นำตลาด รถยนต์ไฟฟ้า ของไทย

ซินหัว

ด้วยแรงกระตุ้นจากเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ทั่วโลก และความมุ่งมั่นของไทยในการทยอยเลิกใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนจึงกำลังเขย่าตลาดรถยนต์ของไทย อันเป็นตลาดที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งส่วนใหญ่มายาวนาน ผ่านการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์

เอสเอไอซี (SAIC) หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน เปิดตัว เอ็มจี ไซเบอร์สเตอร์ (MG Cyberster) รถคอนเซปต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นล่าสุดโดยรถยนต์รุ่นนี้มีกำหนดส่งมอบในปี 2023

เอสเอไอซี ประเทศไทย ระบุว่ารถยนต์ไฟฟ้านำเข้า 2 รุ่น ได้แก่ เอ็มจี แซดเอส อีวี (MG ZS EV) และ เอ็มจี อีพี (MG EP) ซึ่งเปิดตัวในปี 2019 ครองสัดส่วนราวร้อยละ 90 ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์ของไทย

นายจาง ไห่โป ประธาน บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะสามารถก่อให้เกิดพลวัตใหม่ในตลาดรถยนต์ของไทยที่ครองโดยบริษัทญี่ปุ่นมายาวนาน

ไทยตั้งเป้าขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยหวังว่าจะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด เป้าหมายข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน อย่างเอสเอไอซี และ เกรต วอลล์ มอเตอร์ส (GWM) ซึ่งดำเนินธุรกิจในไทยอยู่แล้ว ให้เริ่มนำร่องนำเข้ารถยนต์เพื่อดูกระแสตอบรับ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตเมื่อมีอุปสงค์เพียงพอ

นายจาง เจียหมิง ประธาน จีดับเบิลยูเอ็ม อาเซียน และประเทศไทย กล่าวว่า จีดับเบิลยูเอ็ม วางแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์และแบบไฮบริด จำนวน 9 รุ่น ภายในระยะ 3 ปี และสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมในท้องถิ่นสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว

จีดับเบิลยูเอ็มเปิดตัวรถยนต์รุ่น กู๊ด แคต (Good Cat) ภายใต้แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าย่อย โอรา (ORA) เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรือก่อนงานมหกรรมยานยนต์ครั้งนี้เพียงไม่นาน และมียอดสั่งจองล่วงหน้าเกือบ 2,000 รายการเมื่อนับจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่าผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามกระแสโลก โดยคาดว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในตลาดกลุ่มใหญ่ (Mass Market) ภายในปี 2030 อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันของไทยยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่มเนื่องจากราคาที่สูงกว่าและข้อกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของสถานีชาร์จพลังงาน

ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนสามารถส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลอดภาษีมายังไทยได้ ซึ่งช่วยสนับสนุนการแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน และเมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีขนาดใหญ่พอสมควร ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนและต่างประเทศย่อมจะพิจารณาจัดตั้งสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

นางสาว เกวลิน กล่าวว่าผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอาจต้องเพิ่มการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า หากต้องการรักษากลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ของตนไว้ โดยปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นในไทยยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลและรถยนต์ไฮบริดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เอสเอไอซี และจีดับเบิลยูเอ็ม กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ ของไทย เพื่อติดตั้งสถานีชาร์จที่ใช้ร่วมกันเพิ่มในทั่วประเทศ นอกเหนือจากจุดชาร์จพิเศษของบริษัท ซึ่งยังช่วยให้ทั้งสองบริษัทสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยอีกด้วย

#ซินหัว #รถยนต์ไฟฟ้า #ค่ายรถจีน #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share