เอคเซนเชอร์เผยธุรกิจธนาคารมีโอกาสเพิ่มรายได้อีกปีละ 4% จากการใช้โมเดลธุรกิจใหม่

กองบรรณาธิการ

รายงานจาก เอคเซนเชอร์  วิเคราะห์เจาะลึกด้านการปรับโมเดลธุรกิจและใช้กลยุทธ์แนวทางใหม่ที่ต่างจากเดิม เพื่อรับมือกับคู่แข่งใหม่ๆ ที่เข้าตลาดมาเพื่อให้บริการการเงินและการธนาคารด้านดิจิทัลเพียงอย่างเดียว การปรับตัวจะช่วยให้ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมสามารถเพิ่มรายได้ต่อปีได้อีกประมาณ 4% ดันรายได้ให้เพิ่มขึ้นเกินครึ่งล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025

รายงานเรื่อง “The Future of Banking: It’s time for a change of perspective” มองอนาคตของธุรกิจการธนาคารด้วยการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจของธนาคารชั้นนำร่วม 100 แห่งที่ดำเนินธุรกิจในแบบเดิม และผู้ให้บริการแบบดิจิทัลอย่างเดียวกว่า 200 แห่งใน 11 ประเทศ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียแปซิฟิก และละตินอเมริกา โดยศึกษาบทบาทของกิจการเหล่านี้ในวงจรห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถแบ่งประเภทโมเดลธุรกิจออกมาได้ 2 รูปแบบ ดังนี้:

ขยายตัวในแนวดิ่ง (vertically integrated) — โมเดลธุรกิจเชิงเส้นแบบดั้งเดิม เช่น ธุรกิจที่ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของตนเอง นำผลิตภัณฑ์ของคนอื่นไปจัดจำหน่าย หรือกิจการที่ให้บริการแก่บริษัทอื่นในด้านเทคโนโลยีหรือกระบวนการทางธุรกิจ เป็นต้น

ขยายตัวนอกระบบเชิงเส้น (non-linear) — โมเดลธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนได้ เช่น “การจัดรวมสินค้าและบริการเป็นแพคเกจ (packager)” โดยประกอบคุณค่าใหม่ เพิ่มมูลค่าเข้าไปมากกว่าการจัดจำหน่าย และเป็นกิจการที่ผนวกคุณค่าเข้าไปให้ครอบคลุมถึงบริการจากภายนอกด้วย เช่น บริการ “ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง” โดยรวมไว้ที่จุดขายของผู้ขายเลย

รายงานฉบับนี้ได้ศึกษาวิเคราะห์ธนาคารชั้นนำหลายแห่งซึ่งมีโมเดลธุรกิจในลักษณะการขยายตัวแนวดิ่ง พบว่ากิจการที่ไม่นำผลิตภัณฑ์เดิมมารวมไว้ แต่ได้ผสานความร่วมมือกับกิจการอื่นเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่และนำเสนอได้ตรงใจลูกค้ารายบุคคล จะสามารถเติบโตเกินขีดจำกัดและมีมูลค่าสูงกว่าที่ตลาดประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใช้โมเดลธุรกิจแบบขยายตัวนอกระบบเชิงเส้น ซ้อนไปบนโมเดลธุรกิจเดิมที่ขยายตัวในแนวดิ่ง จะยิ่งผลักดันการเติบโตของธุรกิจให้ขยายตัวได้อีก 3.8% ต่อปี ส่งผลให้รายรับรวมเพิ่มขึ้นได้อีก 5.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025

นายวิชยา แซ่จาว กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจงานบริการทางด้านการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า หากมองภาพรวมทั่วไป อุตสาหกรรมการธนาคารอาจจะดูแข็งแกร่ง เพราะว่าธนาคารมีขนาดใหญ่ มีรายรับและผลกำไรที่ดีมาก แต่เมื่อมองดูใกล้ๆ จะเห็นว่าได้รับผลกระทบทั้งจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ค่าธรรมเนียมหดตัวจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันในตลาด สัดส่วนของธุรกิจธนาคารเมื่อเทียบต่อจีดีพี จึงค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ ในหลายตลาด รายได้จากธุรกิจการธนาคารและการชำระเงิน กำลังไหลออกจากลุ่มผู้ประกอบการเดิมไปสู่ผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ามาในตลาด ดังนั้น ถ้าจะพลิกเกมการเติบโตอีกครั้ง ธนาคารแบบดั้งเดิมจะต้องปรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับวิธีการสร้างและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่น่าดึงดูด โดยเน้นให้ตอบโจทย์ความสนใจของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องทบทวนโมเดลการขยายธุรกิจในแนวดิ่งกันใหม่ด้วย

รายงานระบุว่าระหว่างปี 2018 ถึง 2020 ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลอย่างเดียว สามารถทำผลประกอบการได้ดีกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมมาก โดยกิจการที่ใช้โมเดลการขยายตัวนอกระบบเชิงเส้น จะมีรายได้โตขึ้นเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ถึง 76% ขณะที่กิจการด้านดิจิทัลอื่นที่เดินตามโมเดลการขยายตัวแนวดิ่งแบบเดิม จะเติบโตเพียง 44% ส่วนธนาคารแบบดั้งเดิมที่ทำผลประกอบการดีที่สุดในตลาดที่โตเต็มที่แล้ว จะมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 2% ต่อปี แม้จะมีฐานธุรกิจที่ใหญ่กว่ามากก็ตาม

รายงานฉบับนี้ ได้ระบุถึงวิธีที่ธนาคารแบบดั้งเดิมจะสามารถนำจุดแข็งมาเสริมความแกร่งได้ ทั้งด้านงบดุล ความชำนาญในการบริหารความเสี่ยง และความคุ้นเคยกับกฎระเบียบต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับโมเดลธุรกิจและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และที่สำคัญ ควรพิจารณานำโมเดลเหล่านี้มาใช้กับหนึ่งรูปแบบหรือผสมผสานกัน เช่น:

ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของธนาคารและกำกับทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การผลิตไปจนถึง

การจัดจำหน่าย โดยมีปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนคุณค่าคือ การผนึกกำลังผ่าน M&A (การควบรวมกิจการ) และได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม

สร้างระบบนิเวศที่มีการกระจายสินค้าเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการธนาคารของบริษัทอื่นๆ และสร้างตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับการธนาคาร

หาโอกาสการขยายตลาด โดยให้บริการด้านเทคโนโลยีหรือกระบวนการทางธุรกิจแก่บริษัทอื่นๆ

สร้างสรรค์คุณค่าใหม่ โดยการสร้างหรือรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการย่อยเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งธนาคารหรือธุรกิจอื่นสามารถจัดจำหน่ายได้

“การนำเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลมาใช้ ไม่ใช่กลยุทธ์ที่สร้างความแตกต่างอีกต่อไป ดังนั้น หากต้องการสร้างการเติบโต ธนาคารแบบดั้งเดิมจำเป็นต้องก้าวไปให้ไกลกว่าให้บริการที่ดีที่สุดแบบเดิมบนระบบดิจิทัลเท่านั้น แต่ต้องปรับตัว และใช้หลายๆ โมเดลธุรกิจในเวลาเดียวกัน ต้องเปลี่ยนมุมมอง นำโมเดลที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้มาใช้ เน้นโมเดลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงเจตนารมณ์ขององค์กรและความยั่งยืน ซึ่งธนาคารสามารถเลือกต่อยอดนวัตกรรมไปตามจังหวะปัจจุบันของตนเอง จะใช้แนวทางของการเป็นผู้ตามที่ฉับไว (fast follower) หรือจะเป็นผู้นำในการปรับโมเดลธุรกิจ แล้วแต่จะเลือก แต่ที่สำคัญคือ ธนาคารไม่สามารถอยู่เฉยได้อีกต่อไป” นายวิชยากล่าว

#เอคเซนเชอร์  #TheFutureofBanking #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share