กองบรรณาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ National Cyber Security Agency : NCSA เปิดตัวโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1 เพื่อสร้างทักษะ ขีดความสามารถ และความรู้ความ เข้าใจให้บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรจำนวน 2,250 คน ภายในปี 2565
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเชิงปริมาณและความรุนแรง และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานผ่านระบบออนไลน์แอพพลิเคชันมากขึ้น จึงทำให้อาชญากรไซเบอร์ ใช้ช่องโหว่ของระบบเข้าถึงข้อมูลสำคัญขององค์กรได้ จะเห็นได้ว่าภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีความรุนแรงมากขึ้น และรูปแบบการโจมตีก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งภัยคุกคามดังกล่าวอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ สกมช. ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จึงจัดทำโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ ที่จะมุ่งพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้ประเทศไทยก้าวล้ำ ไปสู่โลกดิจิทัลได้อย่างมั่นคง มีความพร้อมในการป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1 เป็นไปตามนโยบายในแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี
พ.ศ. 2561 – 2565 โดยโครงการฯ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและสร้างผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงกำลังคนด้าน Cybersecurity ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จำนวน 2,250 คน และส่งเสริมการสอบ ใบประกาศนียบัตรและใบรับรองความเชี่ยวชาญไซเบอร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ประเทศไทยมีบุคคลากร ด้าน Cybersecurity นี้ ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นในภูมิภาคและสากล โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่สำคัญของรัฐและเอกชน ตลอดจนกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป
พลโท ดร. ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของ สกมช. คือ “เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของประเทศที่มีประสิทธิภาพพร้อมตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ทุกมิติ” ภารกิจหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและเร่งด่วน คือ การพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนา บุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1
โครงการฯ มีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศด้วยการพัฒนา บุคลากรยกระดับสร้างทักษะ (Skill) ขีดความสามารถ (Ability) และความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) ของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure) ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศที่มีความมั่นคงปลอดภัย
โดยแบ่งการพัฒนาบุคลากรเป็น 3 ระดับคือ ระดับพื้นฐาน ระดับผู้เชี่ยวชาญ และระดับบริหาร ทั้งในภาครัฐและ ภาคเอกชนตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ประกอบด้วย 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรระดับพื้นฐาน หลักสูตรระดับผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตรระดับผู้เชี่ยวชาญ (เฉพาะด้าน) หลักสูตรระดับผู้เชี่ยวชาญ (ภาคปฏิบัติ) หลักสูตร OWASP Security และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง นอกจากนี้ โครงการยังมุ่งเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประชาชน และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไปพร้อมกันด้วย
ทั้งนี้ สกมช. มีแผนที่จะโอน ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต หรือ ThaiCERT) มารวมที่ สกมช.ในปีหน้า
#สกมช #พัฒนาบุคลากร #ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ #สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ #NationalCyberSecurityAgency #NCSA เ#ThaiSMEs #โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ #IntensiveCybersecurityCapacityBuildingProgram
#Covid19