ไมโครซอฟท์จับมือ RISE สร้างนวัตกรรมเพื่อ SME

กองบรรณาธิการ

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมสรรสร้างนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ไทยให้ฟื้นฟูธุรกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกันบนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure ในโครงการ “Hack the Future: Business Rebound Edition”

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก้าวข้ามจากการเป็นโรคระบาดรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มาเป็นโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่อาจไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทั้งในทางการเงิน การปฏิบัติการ หรือแม้แต่เชิงนวัตกรรม เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจ บริษัทจึงมอบศักยภาพทางเทคโนโลยีจากแพลตฟอร์มคลาวด์อย่าง Azure ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้กับเหล่านักคิด-นักสร้างสรรค์ในวงการสตาร์ทอัพของไทย ให้ทั้งสตาร์ทอัพและ SME ไทยได้ผนึกกำลังกันก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจได้อีกครั้ง

ด้านรฐิยา อิสระชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ RISE กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของ RISE คือการขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาคธุรกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโต สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมทั่วทั้งภูมิภาค ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในโครงการ ‘Hack the Future: Business Rebound Edition’ นี้ นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับสตาร์ทอัพไทยที่จะได้รวมพลังความคิด ใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของแต่ละทีมมาค้นหาคำตอบสำหรับโจทย์ใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่ปรากฏขึ้น ในยุคหลังโควิด-19 ที่ทุกอย่างจะยิ่งขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลมากขึ้น

Hack the Future: Business Rebound Edition สนามประลองความสามารถของสตาร์ทอัพไทย

โครงการ ‘Hack the Future: Business Rebound Edition’ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนสตาร์ทอัพไทยมาระดมความคิด ไอเดีย และความร่วมมือกันในการหาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่กำลังเผชิญวิกฤติจากการระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้ 3 โจทย์หลัก ได้แก่

• การจัดสรรทรัพยากรและการจัดการการดำเนินงาน (Resource & Operation Management)

• วิถีการทำงานยุคใหม่โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย (Digitalization/New Way of Work)

• การออกแบบสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า (New Experience for Customer)

โดยทั้ง 3 โจทย์ในโครงการนี้ จะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ๆ 3 กลุ่ม ได้แก่

• ภาคการผลิต และกลุ่มธุรกิจที่ใช้งานโซลูชั่น IoT (Internet of Things) ต่าง ๆ

• อุตสาหกรรมค้าปลีก บริการ ร้านอาหาร

• บริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยว

สตาร์ทอัพที่สนใจร่วมโครงการสามารถกรอกใบสมัครออนไลน์ในนามสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบันได้ที่ https://bit.ly/2BTlZFx ภายในวันอังคารที่ 23 มิถุนายน โดยทีมที่เข้าร่วมจะต้องมีสมาชิกในทีม 3-5 คน โดยที่อย่างน้อย 1 คนต้องมีบทบาทและทักษะในฐานะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้รับการติดต่อยืนยันในวันพุธที่ 24 มิถุนายน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share