ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันของ CLMVT

กองบรรณาธิการ

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMVT ในปี 2563 โดยเศรษฐกิจของเวียดนาม ไทย และกัมพูชามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ในขณะที่เศรษฐกิจลาวและเมียนมาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม กล่าวคือ ความเสี่ยงการผิดนัดชําระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมาซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามมีโอกาสจะขยายตัวได้เร็วที่สุด

ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัว และอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี

การฟื้นตัวในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง โดยจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจะต้องอาศัยขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity)

ทิศทางของกระแสโลกได้ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสของเทคโนโลยี โลกาภิวัตน์ และประชากร ซึ่งนับว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะกำหนดทิศทางการค้าและการลงทุน ประกอบด้วย (1) การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการรับรู้ของมนุษย์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีเสมือนจริง เป็นต้น ทำให้ การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (digital transformation) (2) คลื่นลูกใหม่ของโลกาภิวัตน์ อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาจต้องแยกส่วน กระแสการค้าและการลงทุนจะกลายเป็นภูมิภาคมากขึ้น และ (3) การเติบโตของประชากร Gen Z ที่มีแนวโน้มทางความคิดอนุรักษ์นิยมทางสังคม ความมุ่งมั่นในการสร้างโลกที่ยั่งยืนของคนกลุ่มนี้ นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

แรงขับเคลื่อนเหล่านี้ จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อทิศทางของการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล การทำงานทางไกล บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การค้าปลีกออนไลน์ และการศึกษาออนไลน์ กำลังเติบโตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กิจกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ต่อไปหลังวิกฤต และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการค้าโลกในระยะยาว การลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน การหยุดชะงักของการค้าทั่วโลกทำให้หลายบริษัทไม่สามารถจัดหาสินค้าและบริการที่สำคัญที่ มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะมองหาทางเลือกสำหรับฐานการผลิตเพิ่มเติม เพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานกระจายตัวมากยิ่งขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าและความร่วมมือในภูมิภาค CLMVT

 ในภูมิภาค CLMVT แต่ละประเทศต่างมีความร่วมมือในระดับต่างๆ ที่แตกต่างกัน และมีเป้าหมายในการผลักดันความร่วมมือที่แตกต่างกัน โดยความร่วมมือหลักที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าและความร่วมมือในอนุภูมิภาคนี้ ประกอบด้วย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และในระยะหลังมีการผลักดันความร่วมมือในประเด็นด้านการค้าการลงทุนที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้มีแพลตฟอร์มความร่วมมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งมีนโยบายเฉพาะกิจเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

 การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้วิถีความปกติใน

รูปแบบใหม่ และเพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับต่อภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง

สหประชาชาติ (United Nations) ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศต่างๆ ในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ด้านดิจิทัลภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของนโยบายในระดับโลกและภูมิภาคที่จะเอื้อต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้วิถีความปกติในรูปแบบใหม่ เน้นความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในระดับสากล สินค้าสาธารณะด้านดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลโดยไม่ละเลยคนกลุ่มใดในสังคม การสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล สิทธิมนุษยชนด้านดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์

 ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปรับตัวต่อวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจล้วนมีแนวทางสำคัญที่เหมือนกันคือการส่งเสริมให้เกิดการทำให้เป็นดิจิทัลในองค์กร ซึ่งเข้ามาช่วยปรับปรุงการทำงานขององค์กรการเตรียมความพร้อมรองรับต่อภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ใน 3 ระดับ/ระยะ คือ ระยะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง (respond) ระยะฟื้นฟูจากวิกฤต (recover) และระยะคิดใหม่ทำใหม่ (reimagine)

 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ

โดยห่วงโซ่อุปทานสินค้าและบริการจะให้ความสำคัญกับคุณค่าของวัตถุดิบและมูลค่าเพิ่มภายในภูมิภาคหรือในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น (regionalized or localized supply chain) เพื่อให้ใกล้กับตลาด หรือแหล่งวัตถุดิบในภูมิภาค CLMVT มากขึ้น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มสั้นลง และกระจายตัวในภูมิภาคมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

 ดังนั้น แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค CLMVT ที่จำเป็นได้แก่

▪ ปรับกระบวนทัศน์ในการวางโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของภาคเอกชนใหม่ – ห่วงโซ่อุปทานในอนาคตจะต้องยืดหยุ่น และคล่องตัวมากขึ้น แต่ละประเทศอาจพิจารณาการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีใหม่ๆ การจูงใจด้านภาษีและกระบวนการดำเนินธุรกิจของแต่ละประเทศ และเร่งรัดการใช้ช่องทางการขายที่หลากหลาย (omnichannel)

▪ สร้างความโปร่งใสและความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของห่วงโซ่อุปทาน (transparency and resiliency)

▪ สร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของห่วงโซ่อุปทานด้วยปัจจัยด้านความยั่งยืน

▪ ขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานให้มีความคล่องตัวและพร้อมรับโอกาสทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สถานการณ์และเครือข่ายธุรกิจใหม่ (startups) ที่มีศักยภาพในกลุ่มประเทศ CLMVT

 ในภูมิภาค CLMVT มีปัจจัยด้านอุปสงค์ และอุปทานที่สนับสนุนให้ธุรกิจใหม่เติบโต ได้แก่ จำนวนประชากรขนาดใหญ่ สัดส่วนวัยรุ่นและวัยแรงงานสูง อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและแผนนโยบายส่งเสริมสตาร์ทอัพในแต่ละประเทศที่ชัดเจนมากขึ้น และเงินทุนที่ไหลเข้ามายังภูมิภาคมากขึ้น ทำให้สตาร์ทอัพใน CLMVT เริ่มมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจของสตาร์ทอัพในภูมิภาค CLMVT ส่วนใหญ่จะเป็นไปในรูปแบบการสร้างนวัตกรรมให้กับรูปแบบธุรกิจ หรือ Business Model Innovation ในขณะที่สัดส่วนของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (deep tech) ในภูมิภาคยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความท้าทายในหลายประเด็น ดังนี้

▪ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลรองรับการเติบโตของสตาร์ทอัพให้มีความเสถียรภาพในภูมิภาค

▪ นโยบายการสนับสนุนหรือช่วยเหลือสตาร์ทอัพในช่วงวิกฤตที่ไม่เพียงพอ

▪ การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภูมิภาคยังขาดความต่อเนื่อง

▪ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน – ทั้งในด้านการปรับปรุงกฎระเบียบการเข้าถึงเงินทุนจากสถาบันทางการเงิน และการขอรับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนต่างๆ

▪ การสร้างและรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ (talent) รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมตั้งแต่วัยเรียน

#CLMVT #กัมพูชา #โควิด19 #ThaiSMEs #เวียดนาม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share