กองบรรณาธิการ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัว 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ จากโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนและส่งเสริมให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการทำเทคโนโลยี ระบบ หรือบริการด้านกิจการอวกาศสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจจริง และสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจอวกาศโลกที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และคาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเตรียมผลักดันสตาร์ทอัพทั้ง 10 ราย ผ่านแนวทางการส่งเสริมอย่างหลากหลาย อาทิ การสนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ การเตรียมพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศด้วยการพัฒนาให้สตาร์ทอัพสามารถผลิตดาวเทียมได้เองและสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพที่สนใจทำธุรกิจนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ หรือ Spacetech ผ่านโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศซึ่งปัจจุบันมูลค่าสูงกว่า 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูงขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท (ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA)โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย และพัฒนาบุคลากรของประเทศให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ NIA ยังเห็นว่าเศรษฐกิจอวกาศจะกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องยนต์ในการกระตุ้น GDP ของไทยให้สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม NIA จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจอวกาศผ่านกลไกต่าง ๆ ดังนี้
• สนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ
• ส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ เช่น สถานีภาคพื้นดิน
• เตรียมพร้อมรองรับการส่งจรวดและดาวเทียมด้วยการพัฒนาให้สตาร์ทอัพสามารถผลิตดาวเทียมได้เองเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
• สนับสนุนการใช้งานด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบนำทาง โทรศัพท์สัญญาณดาวเทียม และบริการด้านอุตุนิยมวิทยา
• การสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศให้แก่สตาร์ทอัพของไทยที่สนใจเปลี่ยนมาทำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอวกาศ
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพ 10 ทีมซึ่งล้วนแต่มีความน่าสนใจและมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย “Space Composites” ผู้พัฒนาเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ชั้นสูงที่ใช้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อการสำรวจอวกาศ“iEMTEK” สายอากาศและอุปกรณ์เชื่อมต่อสั่งงานสำหรับระบบสื่อสารบนดาวเทียมขนาดเล็ก “NBSPACE” ดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษาสภาพทางอวกาศ “Irissar” เรดาร์อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ “Halogen” บอลลูนเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ “Plus IT Solution” ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์อื่น ๆ “Krypton” นวัตกรรมโปรเจกต์คริปโตไนท์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการดาวเทียมในรูปแบบใหม่ “Spacedox” ระบบวิเคราะห์และแจ้งคุณภาพอากาศโดยใช้บอลลูนลอยสูงผ่านเครือข่าย Lora และข้อมูลการตรวจวัดจากดาวเทียม “Emone” เทคโนโลยีควบคุมความเร็วการโคจรวัตถุในอวกาศเพื่อลดปริมาณขยะจากอวกาศ และ “Tripler Adhesive” สูตรกาวและสารยึดเกาะเพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางอวกาศ
สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมได้รับการอบรมบ่มเพาะจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ เพื่อให้แต่ละทีมสามารถพัฒนาโครงการของตน และตอบโจทย์ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมอวกาศได้อย่างตรงจุด รวมทั้งสามารถสร้างโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและต่อยอดได้จริงผ่านการทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมอวกาศในรูปแบบ co-creation โดยตั้งเป้าหมายว่าปลายปีนี้จะช่วยให้สตาร์ทอัพเกิดความเข้าใจในธุรกิจด้านเศรษฐกิจอวกาศ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเศรษฐกิจอวกาศของโลกในอนาคต
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า โครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกับ Thai Space Consortium เพื่อผลักดันเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศให้มีบทบาทและสามารถเติบโตได้ในอุตสาหกรรมอวกาศ โดยได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง NIA ได้เฟ้นหาบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความสนใจหรืออยู่ในธุรกิจอวกาศของประเทศไทย เพื่อเข้ามาร่วมโครงการบ่มเพาะและพัฒนาในรูปแบบของการร่วมรังสรรค์ (co-creation) เพื่อปูทางไปสู่การสร้างเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยบริษัทสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมอวกาศ จำนวนทั้งสิ้น 10 ทีม ซึ่งมีทั้งสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศอยู่แล้ว และที่มีเทคโนโลยีเชิงลึก และพร้อมที่จะต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมอวกาศ อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ NIA และหน่วยร่วมเห็นว่าบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และที่สำคัญสร้างสรรค์โดยคนไทย โดยบริษัทเหล่านี้มีโอกาสจะเติบโตในอุตสาหกรรมอวกาศได้ชัดเจน และสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศ รวมถึงการเติบโตและพัฒนาไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอนาคต
สำหรับผู้ชนะการนำเสนอรูปแบบเทคโนโลยีนวัตกรรม และแผนธุรกิจ ได้รับ รางวัล The Best Startup in Space Economy: Lifting Off 2021 (ตัดสินจากคณะกรรมการ) ได้แก่ อันดับ 1 บริษัท NBSpace ผู้ออกแบบและพัฒนาดาวเทียมดวงเล็กเพื่อใช้สื่อสารกับภาคพื้นดิน อันดับ 2 บริษัท “Irissar” เรดาร์ อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศอันดับ 3 บริษัท “Plus IT Solution” ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์อื่น ๆ และ รางวัล The Popular Startup in Space Economy: Lifting Off 2021 (ตัดสินจากผลโหวตของผู้เข้าร่วมงาน) ได้แก่ “Halogen” บอลลูนเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ หลังจากนี้สตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการจะยังคงได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่อไปทั้งในรูปแบบของพันธมิตร ลูกค้า รวมถึงการต่อยอดธุรกิจในภาคเศรษฐกิจอวกาศต่อไป
#NIA #สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #เศรษฐกิจอวกาศ #Spacetech #ThaiSMEs