กองบรรณาธิการ
ความต้องการผลิตภัณฑ์จากงาช้างและเสือที่เพื่อทำเครื่องรางนับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้ แคมเปญ Mercy is Power – พลังที่แท้จริงเกิดจากความเมตตาชีวิตช้างและเสือ รณรงค์ให้คนไทยทุกคนร่วมให้คำมั่นสัญญาพร้อมกับดาราและผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียล เช่น เชอรรี่-เขมอัปสร และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ว่าจะไม่ซื้อ ไม่ครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือ เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ช้างและเสือ
แคมเปญ Mercy is Power – พลังที่แท้จริงเกิดจากความเมตตาชีวิตช้างและเสือ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ TRAFFIC ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก
การรณรงค์นี้ต้องการที่จะท้าทายความเชื่อของคนไทยว่า การซื้อและครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือมีผลทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ เพราะตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้า ล้วนเกิดขึ้นจากความพยายาม และความมุ่งมั่นของตน หาใช่มาจากการครอบครองเครื่องรางที่ทำขึ้นจากการฆ่า แต่การละเว้นและเมตตาชีวิตสัตว์ป่าคือพลังที่แท้จริง โดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ซื้อ ไม่ครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือได้ที่ www.mercyispower.com และรับยันต์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคำมั่นดังกล่าว
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ภารกิจหลักของกรมอุทยานฯ คือการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า ผมเชื่อว่า แคมเปญ Mercy is Power จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเตือน รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการใช้เครื่องรางที่ทำจากงาช้างและเสือ จะสร้างแรงหนุนให้การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายลดน้อยลงได้
ในปัจจุบันการครอบครองผลิตภัณฑ์จากงาช้างนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งผิดกฏหมาย เว้นแต่ผู้ครอบครองจะขึ้นทะเบียนภายในปี พ.ศ. 2558 หรือก่อนหน้านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลไทยได้ยกระดับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งการยกระดับนี้รวมไปถึงการเพิ่มบทลงโทษทั้งจำและปรับ
นางดารารัตน์ วีระพงษ์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส TRAFFIC กล่าวว่า แนวทางที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ช้างและเสือในระยะยาวได้นั้นคือ การใช้เครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและพฤติกรรม (Social and Behavioral Change) ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยแคมเปญ Mercy is Power ได้ใช้พลังผลักดันทางสังคม และการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์มาใช้เพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า การพรากชีวิตมาทำเป็นเครื่องรางสามารถทำให้โชคดีและเสริมบารมี แคมเปญนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมถึง พระภิกษุ ดารา ผู้มีชื่อเสียงในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งองค์กรพันธมิตรต่างๆ ที่ร่วมกันผลักดันให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ
TRAFFIC รายงานว่า เฉพาะในประเทศไทย จากปี พ.ศ. 2543 ถึงปี พ.ศ. 2561 มีคดีเกี่ยวกับเสือที่จับได้จำนวน 49 คดี และยึดเสือของกลางได้มากถึง 369 ตัว และจนถึงปี พ.ศ. 2563 ได้มีการบุกจับเพิ่มขึ้นอีก 6 ครั้งและสามารถยึดเสือของกลางได้เพิ่มอีก 24 ตัว นอกจากนี้ TRAFFIC ยังได้มีการติดตามการค้างาช้างออนไลน์และพบว่า ในการสำรวจเพียงแค่ 5 วันในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีการขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างจำนวนกว่า 1,000 รายการ
“บรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อเครื่องรางจากงาช้างและเสือนั้นเปลี่ยนแปลงไป คนจำนวนมากเริ่มเข้าใจว่า การซื้อหรือการครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือส่งผลลบต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การลดความต้องการครอบครองผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสามารถยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายและช่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ การเปิดตัวแคมเปญ Mercy is Power โดยความร่วมมือกับ TRAFFIC และกรมอุทยานฯ สามารถตอกย้ำแนวคิดเชิงบวกนี้ และหวังว่าจะสามารถยุติการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายได้ตลอดไป” ม.ร.เรอโนด์ เมเยอร์ ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทยกล่าว
แคมเปญนี้ยังได้นำเสนอคลิปวิดีโอสั้น 3 ชุด ที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook และ YouTube โดยคลิปสั้นนั้นมีสาระเตือนใจจากพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมให้คำมั่นว่า จะไม่ซื้อและไม่ครอบครองเครื่องรางจากงาช้างและเสือ โดยสามารถดาวน์โหลดยันต์อิเล็กทรอนิกส์ได้จาก www.mercyispower.com
#MercyisPower #ยัน(ต์)ว่าดียัน(ต์)ว่าได้บุญ #ละเว้นชีวิตช้างเสือคือพลัง #ThaiSMEs