กองบรรณาธิการ
ดิ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) เผยรายงาน Connecting Learners : Narrowing the Educational Divide เน้น 4 ประเด็นหลักสำหรับการประสานงานระหว่างหลายภาคส่วน
รายงานของ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit – EIU) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอีริคสัน (Ericsson) (NASDAQ: ERIC) ระบุว่า ประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ต่ำจะสามารถเพิ่มจีดีพี (GDP) ได้สูงถึง 20% หากดำเนินการเชื่อมต่อเครือข่ายสถานศึกษาต่าง ๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต
ทุกวันนี้ ระบบการศึกษาทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยกว่า 190 ประเทศต้องสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว และในช่วงเวลานี้จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่บ้านเพื่อรองรับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสำหรับนักเรียน-นักศึกษาอย่างน้อย 100 ล้านคนจากทั้งหมด 1.6 พันล้านคนทั่วโลก การปิดสถานศึกษาเป็นการชั่วคราวก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อทัศนะเกี่ยวกับความจำเป็นในการเชื่อมต่อเครือข่ายสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อรองรับการเรียนการสอน และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและเทคโนโลยี
บุคลากรที่มีการศึกษาดีย่อมจะมีศักยภาพที่เหนือกว่าในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและคิดค้นไอเดียที่แปลกใหม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างงาน นอกจากนี้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในโรงเรียนจะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่นักเรียน โดยจะช่วยปรับปรุงการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะได้อย่างมาก และในทางกลับกันจะช่วยเปิดประตูสู่เส้นทางอาชีพใหม่ ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลและสังคมโดยรวม
ดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index) ของ World Economic Forum (2560) และดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ของธนาคารโลก (2560) แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและคุณภาพการศึกษา นอกจากนั้นข้อมูลวิเคราะห์ของ EIU ชี้ว่าการเชื่อมต่อของสถานศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุก 10% ในประเทศหนึ่ง ๆ จะทำให้ตัวเลขจีดีพีต่อหัวเพิ่มขึ้นราว 1.1%
ขณะที่อัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2548 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับปานกลางที่มากกว่า 50% เล็กน้อยในปี 2564 อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำกันเมื่อเปรียบเทียบแต่ละภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ประเทศไนเจอร์ในทวีปแอฟริกาตะวันตก หากมีการปรับปรุงการเชื่อมต่อเครือข่ายสถานศึกษาให้อยู่ในระดับเดียวกับประเทศฟินแลนด์ ก็จะช่วยเพิ่มจีดีพีต่อหัวได้เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มจาก 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน เป็น 660 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนภายในปี 2568
รายงานฉบับนี้ยังเน้นย้ำ 4 มาตรการสำคัญเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลง ดังนี้:
การประสานงานร่วมกันคือกุญแจสำคัญ: ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างรอบด้านในการประสานงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาชนะอุปสรรคในการเชื่อมต่อเครือข่ายสถานศึกษา
ความสามารถในการเข้าถึงและค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงจนเกินไป: การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถือเป็นจุดเริ่มต้น แต่คุณภาพการเชื่อมต่อและค่าบริการก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน
การผนวกรวมอินเทอร์เน็ตและเครื่องมือดิจิทัลเข้ากับการเรียนการสอน: หลังจากที่จัดหาบริการเชื่อมต่อให้กับสถานศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการผนวกรวมเข้าไว้ในหลักสูตร โดยครูผู้สอนจะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนในรูปแบบปกติได้
การปกป้องเยาวชนบนระบบออนไลน์: การเชื่อมต่อของสถานศึกษาจะช่วยสร้างโอกาสให้แก่เยาวชน นอกจากนี้ จะต้องมีการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางออนไลน์ที่เหมาะสมและปลอดภัย และจะต้องจัดการการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รายงานยังแนะนำว่าผู้บริหารภาครัฐ เอกชน และเอ็นจีโอทั่วโลกควรร่วมมือกันผลักดันโครงการให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแก่นักเรียน-นักศึกษาทุกเพศทุกวัย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีได้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ อีริคสันจึงเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนโครงการ Giga (โครงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำหรับสถานศึกษา ก่อตั้งโดยองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union)) ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การให้ทุนสนับสนุน การแบ่งปันข้อมูล ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการคิดค้นโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับการเชื่อมต่อ อีริคสันมุ่งมั่นสนับสนุนความพยายามดังกล่าวภายใต้โครงการความร่วมมือ 3 ปีกับยูนิเซฟ เพื่อช่วยจัดทำแผนที่สำหรับการระบุปัญหาช่องว่างด้านการเชื่อมต่อเครือข่ายของสถานศึกษาต่าง ๆ ในปัจจุบันใน 35 ประเทศ
รายงาน Connecting Learners: Narrowing the Educational Divide ซึ่งจัดทำโดย EIU โดยได้รับการสนับสนุนจากอีริคสัน ตอกย้ำความเชื่อของอีริคสันตามเป้าหมายหลักของโครงการ Giga นั่นคือการเชื่อมต่อเครือข่ายให้กับสถานศึกษาทุกแห่ง รวมถึงชุมชนโดยรอบ ภายในปี 2573 เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง ฮีเธอร์ จอห์นสัน รองประธานฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนและกิจกรรมเพื่อสังคมของอีริคสัน กล่าวว่า “เมื่อตอนที่มีการเปิดตัวโครงการ Giga เราเข้าใจในทันทีถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีภายในประเทศและระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยมอบโอกาสให้แก่เยาวชนทั่วโลกในการสร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน”
“รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และเอ็นจีโอควรดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ล้วนมีบทบาทในการสร้างความแตกต่าง เราขอเรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ อ่านรายงานฉบับนี้ และเข้าร่วมโครงการ Giga เพื่อช่วยกันทำให้เป้าหมายที่สำคัญนี้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” ฮีเธอร์ จอห์นสัน กล่าว
ชาร์ล็อตต์ เพทรี-กอร์นิตซ์กา รองผู้อำนวยการบริหารฝ่ายความร่วมมือขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เรากำลังจัดทำแผนที่ของสถานศึกษาทั่วโลก เพื่อระบุปัญหาช่องว่างด้านการเชื่อมต่อในชุมชนต่าง ๆ เราจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายสถานศึกษาเข้าด้วยกัน และจัดหาระบบการเรียนการสอนในรูปแบบดิจิทัลที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถพัฒนาเติบโตสู่อนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น
รายงานของ EIU ชี้ให้เห็นว่า การเชื่อมต่อเครือข่ายของสถานศึกษาจะช่วยปรับปรุงประสิทธิผลทางการศึกษา และเพิ่มโอกาสด้านอาชีพให้แก่เยาวชน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและพัฒนาชุมชนให้เติบโตมากขึ้น และยังระบุถึงประโยชน์ที่เยาวชนจะได้รับในระดับบุคคล ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจุดเล็ก ๆ เช่น การเพิ่มรายได้ การปรับปรุงสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่โดยรวม และยิ่งไปกว่านั้น ยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนในวงกว้าง และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงประโยชน์อื่น ๆ ที่อาจได้รับจากการเชื่อมต่อเครือข่ายของสถานศึกษา ไว้ดังนี้:
ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ปรับปรุงการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บล็อกเชน, บิ๊กดาต้า, แมชชีน เลิร์นนิ่ง และ AI สร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการคิดค้นไอเดียที่แปลกใหม่ สร้างอาชีพ พัฒนาสังคม กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
#อีริคสัน #เครือข่ายในสถานศึกษา #กระตุ้นGDP #ดิอิโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ยูนิต #EIU
#ConnectingLearnersNarrowingtheEducationalDivide #EconomistIntelligenceUnit #EIU #ThaiSMEs