กองบรรณาธิการ
ดีแทคได้ประกาศนโยบายสวัสดิการ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียม สำหรับพนักงานกลุ่ม LGBTQ (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทราน เจนเดอร์ เควียร์) หรือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นโยบายดังกล่าว เน้นย้ำจุดยืนของดีแทคในการไม่ทนต่อการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพและรสนิยมทางเพศ อีกทั้งได้เพิ่มความครอบคลุมสวัสดิการพนักงานสำหรับคู่สมรสตามกฎหมาย ให้กับพนักงานกลุ่ม LGBTQ และคู่สมรสเพศเดียวกันด้วย นอกเหนือจากนั้น ดีแทคยังมอบสิทธิการลาเพื่ออุปการะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และการลาป่วยเพื่อการผ่าตัดแปลงเพศของพนักงาน โดยดีแทคคาดว่านโยบายสวัสดิการเท่าเทียมนี้จะช่วยขับเคลื่อนความหลากหลายและความมีส่วนร่วม (diversity & inclusion) ในองค์กรอย่างแท้จริง อันจะช่วยยกระดับผลิตภาพการทำงานและประสบการณ์ของลูกค้าในระยะยาว
นางสาวนาฎฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคนั้น มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติที่เท่าเทียมสำหรับลูกค้าและพนักงานของเราทุกคน เราไม่อดทนต่อการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ รสนิยมทางเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือ ศาสนา ทุกรูปแบบ แนวปฏิบัติดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมาภิบาล (Code of Conduct) ของเรามาอย่างยาวนาน และนโยบายสำหรับพนักงานกลุ่ม LGBTQ นี้ ถือเป็นการเน้นย้ำจุดยืนของเราในเรื่องความหลากหลาย อีกทั้งเป็นการปรับเปลี่ยนให้สวัสดิการสำหรับพนักงานของเรานั้นมีความเท่าเทียมยิ่งขึ้น และคำนึงถึงทุกแง่มุมในการใช้ชีวิต นับตั้งแต่การแต่งงาน ไปจนถึงเรื่องสุขภาพ และการดูแลบุตร การประกาศใช้นโยบายที่มีความเท่าเทียมมากขึ้นสำหรับพนักงานกลุ่ม LGBTQ นั้นจะช่วยขับเคลื่อนความหลากหลายและการมีส่วนร่วมจากทั่วทั้งองค์กรของเรา ดังที่ปรากฏในผลวิจัยจำนวนมากว่าองค์กรที่มีคะแนนด้านความหลากหลายสูงนั้น มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่าองค์กรที่มีความหลากหลายน้อยกว่า”
สวัสดิการดังกล่าวซึ่งปัจจุบันดีแทคมอบให้กับคู่สมรสตามกฎหมาย จะถูกปรับเปลี่ยนให้ครอบคลุมถึงคู่สมรสเพศเดียวกันที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาศัยอยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์แบบผูกมัดระยะยาว
พนักงานมีสิทธิขอลาหยุดเพื่อเข้าพิธีสมรสได้ไม่เกิน 6 วัน และการขอรับเงินช่วยเหลือการสมรสเป็นจำนวน 5,000 บาท
สิทธิในการลาฌาปนกิจครอบครัวได้ไม่เกิน 15 วัน และสิทธิในการรับเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 10,000 บาท
สิทธิในการซื้อประกันสุขภาพและแพ็กเกจตรวจสุขภาพสำหรับครอบครัวในราคาของบริษัท
นอกเหนือจากนี้ ดีแทคยังปรับเปลี่ยนให้การลาเพื่อการผ่าตัดแปลงเพศของพนักงานถือเป็นการลาป่วย และเพิ่มสิทธิการลาเพื่อรับอุปการะบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ได้ไม่เกิน 7 วันด้วย
ในปี 2563 รายงานจาก McKinsey ชี้ว่าองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงกว่าองค์กรที่มีความหลากหลายน้อยกว่าถึง 48 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักข่าว Financial Times ยังระบุว่ากองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่ดำเนินงานบนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) นั้นสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกว่า 340 พันล้านดอลลาร์ (ราว 10.9 ล้านล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งความหลากหลายและการมีส่วนร่วมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเสาหลักด้านสังคม ภายใต้แนวคิด ESG
“ที่ดีแทค เรามีบุคลากรที่หลากหลาย ตั้งแต่ต่างอายุไปจนถึงต่างเชื้อชาติ การให้ความสำคัญด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน LGBTQ ของเรา ถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามต่อเนื่องเพื่อสร้างให้ดีแทคเป็นผู้นำในด้านการมีสถานที่ทำงานที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เราเชื่อว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถส่งมอบบริการที่ดียิ่งขึ้นสำหรับลูกค้า ซึ่งเราให้การดูแลเสมือนสมาชิกครอบครัว องค์กรธุรกิจที่เปิดกว้างให้พนักงานได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ในที่ทำงานนั้นจะสามารถทำผลงานได้ดีกว่า” นางสาวนาฎฤดีกล่าว
การประกาศนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง Pride Month ของดีแทค ซึ่งก่อนหน้านี้ดีแทคได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์กรอบรูปบน Facebook ให้บุคคลทั่วไป
#ดีแทค #สวัสดิการเท่าเทียม #LGBTQ #ThaiSMEs