อุทยานวิทย์ฯ ตั้งเป้าสู่ R&D Hub คาดสิ้นปีช่วยสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 2,700 ล้านบาท

จิรพรรณ บุญหนุน

กองบรรณาธิการ

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ชูเป้าหมาย ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย หรือ R&D Hub บนพื้นที่ 200 ไร่

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มีเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนให้เอกชนเติบโตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมและส่งเสริมให้เอกชนมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง

ทั้งนี้อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มีศูนย์วิจัย 5 แห่งที่ร่วมสนับสนุนภาคเอกชน ประกอบด้วย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและ วัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และ ศูนย์ เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ หรือ ENTEC โดยทั้ง 5 ศูนย์วิจัยมีนักวิจัยประมาณ 2,000 คน ที่จะสามารถร่วมกับภาคเอกชนในการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงการผลิตสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับความต้องการของตลาดด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการนั้น ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ส่วนได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน ภาษีและมาตรการส่งเสริม การพัฒนาบุคคลการและกลไกส่งเสริมธุรกิจ

ในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มีการรับจ้างวิจัยร่วมวิจัย การอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานที่พร้อมถ่ายทอด การให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและการวิเคราะห์ทดสอบให้กับภาคเอกชนและผู้ประกอบการ

ทางด้านการเงิน ภาษีและมาตรการส่งเสริม นั้น ได้สนับสนุนผู้ประกอบการผ่านกลไกลดหย่อนภาษีสำหรับวิจัยและพัฒนา 300 เปอร์เซ็นต์ ให้บริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินร่วมลงทุนการรับรองธุรกิจเทคโนโลยี รวมถึงมีการให้คำปรึกษาทางการเงินผ่าน World Business Angel Investment Forum หรือ WBAF มีการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ เป็นต้น

สำหรับรูปแบบในการให้บริการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี แหล่งรวมความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้ สวทช. มหาวิทยาลัยและหน่วยงายพันธมิตรในการถ่ายมอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไปด้วย

ทางด้านกลไกส่งเสริมธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ศูนย์พัฒนาต้นแบบ การส่งเสริมคลัสเตอร์นวัตกรรมมุ่งเป้า การจับคู่ธุรกิจและการขยายตลาด และ บัญชีนวัตกรรมไทย รองรับการให้บริการผู้ประกอบการด้วย  

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและบริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมประกอบด้วย NSTDA Lab แล็ปทดสอบ หรือ Testing Lab โรงงานต้นแบบ หรือ Pilot plants & Factory plants พื้นที่เช่าสำหรับผู้ประกอบการ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ และ บริการพื้นที่เช่าในการทำงาน หรือ Co-working space เป็นต้น

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาเป็นสมาชิก รวมถึงขอเข้ามาใช้บริการและขอรับคำปรึกษาแล้ว 120 บริษัท เป็นบริษัทต่างชาติ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ แบ่งคลัสเตอร์ธุรกิจเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจการเกษตร  เช่น บริษัท Zoetis บริษัท Encap เป็นต้น กลุ่มธุรกิจอาหาร  เช่น บริษัท เบทาโกร บริษัท ซันโตรี่ และบริษัท ยามาโมริ เป็นต้น กลุ่มธุรกิจทางด้านการแพทย์และสุขภาพ เช่น บริษัท AVS Innovation บริษัท Lion และบริษัท Otsuka เป็นต้น และกลุ่มธุรกิจดิจิทัล ได้แก่ บริษัท Biosci บริษัท Feedback180 และ บริษัท Spinsoft เป็นต้น

นอกจากยังมีกลุ่มอื่นๆ อาทิ ธุรกิจยานยนต์ เคมีภัณฑ์และก่อสร้าง เป็นต้น

“อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่สร้างผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ที่มากขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนสามารถเข้ามาเช่าใช้สถานที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ในการเริ่มต้นธุรกิจ สามารถเข้าถึงนักวิจัยเพื่อให้นักวิจัยช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงช่วยธุรกิจสามารถผลิตสินค้าได้มีคุณภาพมากขึ้น เร็วขึ้น และสามารถนำสินค้าออกสู่ตลาดได้ทันเวลาและตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันเวลา” นางสุวิภา กล่าว

นางสุวิภา กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ยังร่วมกับพันธมิตรในส่งเสริมคัสเตอร์อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งมีการสนับสนุนผู้ประกอบการนับตั้งแต่การจัดทำมาตรฐาน การให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุน และการช่วยนำเสนอสินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศผ่านเครือข่ายพันธมิตร เช่น เครือข่ายความร่วมมือด้านไอซีทีในภูมิภาคเอเชียโอเชียเนีย เป็นต้น และในปีนี้อุทยานวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการจ้างงานมูลค่า 2,700 ล้านบาท

นอกจากนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช.ครั้งที่ 16 หรือ 16th NSTDA Annual Conference: NAC2021 ขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 มีนาคม  2564 ภายใต้แนวคิดของการจัดงานในปีนี้ คือ “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

โดยปีนี้เป็นครั้งแรกที่ เป็นการจัดงานออนไลน์เต็มรูปแบบรับวิถี New Normal  ซึ่งทุกกิจกรรมจะเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ทั้งสัมมนา นิทรรศการ การจัดกิจกรรมเยี่ยมชม Open House การรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี S&T Job Fair หรือกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac

#อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย #R&DHub # สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

#สวทช #เนคเทค #Biotec #เอ็มเทค #ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ #นาโนเทค #ศูนย์ เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ #ENTEC #NAC2021 #ThaiSMEs #NewNormal

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share