กองบรรณาธิการ
ขณะเดียวกัน ส.อ.ท. หนุนตั้งกองทุนไทยชนะเพื่อเอสเอ็มอี และ เสนอมาตรการคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนินงานโครงการยกระดับศักยภาพ SME โดยพัฒนาระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Service Provider) ภายใต้แคมเปญ SME WE CARE Plus เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SME ในการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาสินค้าและบริการ เพิ่มช่องทางการตลาด รวมถึงการสร้างโอกาสทางการค้าเพื่อให้มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วนนี้ที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19
นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและภาคอุตสาหกรรมการผลิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสภาอุตฯได้ผลักดันเชิงนโยบายใน 3 ด้านหลักประกอบด้วย เสนอมาตรการกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีเสนอปรับหลักเกณฑ์ พระราชกำหนดเงินกู้ Soft loan 5 แสนล้านบาท เสนอจัดตั้งกองทุนไทยชนะเพื่อเอสเอ็มอี เพื่อผู้ประกอบการ และ เสนอมาตรการคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาตรการกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี นั้นได้เสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือทางด้านภาษี และประกันสังคม สำหรับผู้ประกอบการ
ในส่วนของการนำเสนอปรับหลักเกณฑ์พระราชกำหนด หรือ พรก. เงินกู้ Soft loan นั้น สภาอุตฯ ได้ดำเนินงานใน 2 แนวทาง คือ ในเรื่องของนโยบายทางการเงิน และแนวทางการปฎิบัติ
โดยในส่วนของนโยบายทางการเงินนั้น จะเน้นในเรื่องสภาพคล่องทางด้านการเงิน ทั้งในเรื่องของแนวนโยบายและแนวปฎิบัติ โดยทางด้านนโยบายสภาอุตฯ กระตุ้นให้ภาครัฐแก้ไข พระราชกำหนด (พรก.) การให้สินเชื่อมูลค่า 500,000 ล้านบาท ให้กับธุรกิจที่ไม่เคยกู้สามารถที่จะกู้ได้ และจากเดิมที่การกู้จะให้กู้ 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้ เป็นขอให้ธุรกิจสามารถกู้เงินได้ตามศักยภาพของลูกหนี้ ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดสินเชื่อ และสามารถคิดอัตราดอกเบี้ย 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในระยะ 5 ปี รวมถึง ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่ม 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้มีมาตราการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคต่างๆ โดยสภาอุตฯ ได้ผลักดันเรื่องภาษีซื้อ หรือ VAT ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทดสอบต่างๆ ที่เอสเอ็มอี ต้องใช้ เช่น ค่าทดลองในห้องแล็ป การขอมาตรฐาน และเงินสมทบประกันสังคมให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงได้นำเสนอมาตรการคนละครึ่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่าน สสว. โดยเมื่อทำธุรกิจจะมีภาษีซื้อ และภาษีขาย โดย สภาอุตสาหกรรม ขอให้รัฐช่วยจ่ายภาษีซื้อ หรือ VAT ให้กับเอสเอ็มอี คนละครึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือช่วยจ่ายภาษีซื้อ (VAT) คนละครึ่ง หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอการสนับสนุนผ่าน สสว. จากนั้น สสว. จะทำนโยบายยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยได้นำเสนอต่อ สสว. เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ สภาอุตฯ ยังมีการผลักดันในเรื่องการส่งเสริมทางด้านการตลาด เช่น การโฆษณาสินค้า การจัดทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยขอให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนในสนับสนุนค่าใช้จ่ายคนละครึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในเรื่องของการอบรมบุคลากรให้กับผู้ประกอบการในการพัฒนาบุคลากรด้วย ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยนำเสนอไปยังภาครัฐแล้ว
สำหรับการจัดตั้งกองทุนไทยชนะ นั้น สภาอุตฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่ม เอสเอ็มอี ที่ไม่มีคุณสมบัติในการขอวงเงินสินเชื่อ Soft loan โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกหนี้ที่กำลังจะเป็น NPL และกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน
นายปรีชา กล่าวต่อว่า สภาอุตฯ ยังได้มีการจัดตั้ง ศูนย์บริการ SME WE CARE Plus เพื่อให้บริการทุกมิติสำหรับเอสเอ็มอี มีการเชื่อมโยงบริการจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทางด้านเอสเอ็มอี อาทิ บรการทางด้านนวัตกรรม บริการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บริการด้านการเงิน และบริการทางด้านการตลาด โอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น
“เราคิดว่าแนวนโยบายทางด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญ นโยบายทางการเงินและสภาพคล่องจะช่วยพยุงให้เอสเอ็มอี ช้ำน้อยหรือยืดอายุเค้าได้ คนที่แข็งแรงอยู่แล้วทำให้แข็งแรงขึ้น คนที่อ่อนแอให้เค้าอยู่ได้ เพราะ เอสเอ็มอีมีอยู่ทุกส่วน และส่วนที่ทำเรื่องขอการสนับสนุน จะช่วยให้เอสเอ็มอีที่เป็นแกนหลักของประเทศอยู่ได้ เราอยากให้เอสเอ็มอีเข็มแข็ง แข็งแรงและยั่งยืน เราเป็นตัวเชื่อมที่จะช่วยเอสเอ็มอี” นายปรีชา กล่าว
ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีสมาชิกเอสเอ็มอี ประมาณ 9,000 ราย มี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 9 สถาบันเฉพาะทาง
ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อรับบริการและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.smi.or.th/smewecare หรือโทรสอบถามได้ที่สถาบัน SMI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เบอร์ 02-345-1188 ในวันและเวลาทำการ
#สสว #สอท #แคมเปญSMEWECAREPlus #ธุรกิจเอสเอ็มอี #วิกฤตโควิด19