กองบรรณาธิการ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz (733 – 738 / 788 -793 MHz ) ในมูลค่ารวม 17,154 ล้านบาท
เป็นตัวแทนชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz งวดที่ 1 จำนวน 1,835,478,000.00 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยสามสิบห้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นแปดพันบาทถ้วน) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เพื่อนำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
นายสมชัย กล่าวว่าในการประมูลคลื่น 5G เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เอไอเอสความตั้งใจในประมูลคลื่น 700 MHz เพิ่มเติม เพื่อนำมาให้บริการ 5G โดยเป็นคลื่น 5G แบบเต็ม Block ตามมาตรฐานเทคโนโลยี 5G ระดับโลก ซึ่งเป็นจำนวนที่จะนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้คลื่นความถี่ที่เอไอเอสมี ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz จำนวน 30 MHz (2×15 MHz), คลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 1200 MHz รวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G ทั้งหมดอยู่ที่ 1330 MHz และเมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่แล้ว ส่งผลให้เอไอเอส มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3G,4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวม 1420 MHz (ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ) ที่จะนำมาสร้างประโยชน์ในการฟื้นฟูประเทศ ผ่านการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหลักต่างๆและลูกค้าทุกกลุ่มต่อไป
ด้านนายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 1 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า ตามที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ793-803 MHz ด้วยราคาการประมูลสูงสุด 34,306 ล้านบาท โดยวันนี้ NT ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ดังกล่าวในงวดที่ 1คิดเป็นอัตราร้อยละ 10 ของราคาการประมูลสูงสุด เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,670.742 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่งวดที่ 2-10 รวมมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการเข้าร่วมประมูลของ CAT ก่อนการควบรวมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่าย 5G บนคลื่น 700 MHz เพื่อรองรับการขับเคลื่อน/ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในทุกภาคส่วน สำหรับการดำเนินงานภายหลังจากการชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นั้น NT ได้เดินหน้าขยายตลาดไร้สาย 5G เพื่อให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถต่อยอดการพัฒนา 5G ของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถรองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ในด้านต่าง ๆ โดยจะดำเนินการทั้งในด้านการจัดสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศสำหรับลูกค้าปัจจุบัน การเพิ่มลูกค้ารายย่อย การบริการขายส่ง MVNO ตลอดจนการให้บริการด้าน Digital Service ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดสร้างและใช้โครงข่าย 5G ร่วมกันและลดการลงทุนซ้ำซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำตลาดบริการ my และบริการ Digital Solution รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 5G ของ NT ในหลากหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิเคชัน 5G การสร้างระบบดิจิทัลของภาครัฐ และการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลตามแนวทางของ EEC เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนของการชำระค่าคลื่นความถี่ 26 GHz ชุดที่ 22-25 ช่วงคลื่นความถี่ 26.45-26.8 GHz ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลนั้น ได้ดำเนินการชำระเงินจำนวน 1,920.65 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แก่สำนักงาน กสทช. เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ก่อนการควบรวมเป็น NT
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz ครั้งล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. 2563 ช่วงความถี่ 738 – 748 MHz / 793 – 803 MHz ด้วยเงินประมูล 34,306 ล้านบาท ได้นำเงินค่าประมูลงวดแรกรวมทั้งสิ้น 3,670.742 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินในวงเงินส่วนที่เหลือ มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูลแล้ว สำหรับเงินดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่าย และเงินนำส่งกองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร้อยละ 15 แล้ว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
#เอไอเอส #NT #ชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่700MHz #ประมูลคลื่น 5G #ThaiSMEs