นภาพร ไชยขันแก้ว
กองบรรณาธิการ
มนุษย์เงินเดือนเกือบทุกคนที่ทำงานมานาน ย่อมมีความฝันอยากมีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตนเอง “ธนกฤต จุมพลติง” ก็เฉกเช่นเดียวกัน หลังจากทำงานมาร่วม 16 ปี ได้ตัดสินใจเปิดร้านแว่นตาด้วยเงินลงทุน 2 แสนกว่าบาท และเชื่อว่าตัดสินใจถูกต้อง ที่ออกมาทำธุรกิจของตัวเอง
ธนกฤต จุมพลติง วัย 37 ปี เริ่มทำงานตั้งแต่เป็นนักศึกษาในรูปแบบงานพาร์ทไทม์ ที่ร้านพิซซ่า หลังจากเรียนจบเริ่มหางานเต็มเวลาทำโดยเลือกเป็นพนักงานโรงแรม แต่ด้วยค่าจ้างเพียง 4,000 บาท เขามองว่าไม่คุ้มค่า และได้เปลี่ยนงานไปสมัครเป็นพนักงานแว่นท็อปเจริญ สาขากาดสวนแก้ว และย้ายไปอีกหลายสาขา แต่ทุกสาขาล้วนอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
ธนกฤตใช้เวลา 13 ปี จากพนักงานขายแว่นท็อปเจริญขึ้นสู่การเป็นผู้จัดการสาขา เขาได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการขาย และบริหาร แต่การทำงานทั้งหมดจะอยู่ภายใต้แผนธุรกิจของบริษัทแม่ ซึ่งยอมรับว่ามีความกดดันเพื่อสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น และตำแหน่งในฐานะผู้จัดการ ธนกฤต มองว่าตนเองเริ่มอิ่มตัวในการทำงานเป็นลูกจ้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บ้าน 1 หลังและรถยนต์อีก 1 คัน เขาจึงตัดสินใจเด็ดขาดที่จะมาเปิดร้านของตนเองชื่อว่า “ร้านแว่นตาธนกฤต” โดยเช่าร้านอยู่ที่อำเภอแม่ริม ตรงข้ามโรงเรียนบ้านริมใต้ ไม่ไกลจากบ้านเขามากนัก เขาเลือกเช่าร้าน 1 คูหา ทำเลติดถนนใหญ่ (ถนนเชียงใหม่-ฝาง) มีผู้คนเดินทางสัญจรไปมาสะดวก และมีโอกาสเห็นร้านแว่นตาง่าย เงินลงทุนก้อนแรกจำนวน 280,000 บาท ได้มาจากหยิบยืมน้อง 200,000 บาท และกดเงินสดจากธนาคารยูโอบีจำนวน 57,000 บาท บวกกับเงินก้อนสุดท้ายกว่า 1 หมื่นบาท
“เหตุผลที่ผมตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านตัวเองในช่วงวิกฤตโรคโควิท เพราะเชื่อมั่นว่า แว่นตา เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องการใช้ ถึงแม้ว่าในระแวกนั้นจะมีคู่แข่ง 7-8 ราย แต่ก็เชื่อว่ากลุ่มลูกค้าจะแตกต่างกันออกไป”
เขาเริ่มต้นตกแต่งร้าน ซื้ออุปกรณ์เครื่องวัดสายตาระบบออโต้ ชุดเลนส์ทดสอบสายตา จำหน่ายแว่นตา 2 ประเภท แว่นสายตา และแว่นกันแดด รวมทั้งไปจดทะเบียนการค้าเพื่อถูกต้องตามกฎหมาย
ธนกฤต เปิดร้านอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ปี 2563 เป็นช่วงเวลาที่โรคระบาดโควิทในประเทศไทยยังมีการแพร่เชื้อ โดยที่ยังไม่มีวัคซีน ผลการตอบรับในช่วงแรก จึงยังไม่คึกคัก
ภายหลังรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ โครงการคนละครึ่ง เราชนะ ได้เกิดขึ้นมาเป็นลำดับ เขาได้เข้าร่วมโครงการติดป้ายหน้าร้าน ทำให้ลูกค้าทยอยเข้ามาใช้บริการเรื่อยๆ
ปีแรก เก็บเงินใช้หนี้
ธนกฤต กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายรายได้ไว้ 70,000 บาท ต่อเดือน แต่ยอมรับว่าไม่เป็นไปตามที่คาดคิดเพราะภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซาจากโรคระบาด แม้ว่าจะมีมาตรการมาช่วยเหลือก็ตาม ดังนั้นรายได้แต่ละเดือนส่วนใหญ่จะใช้เป็นค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าเช่าร้านประมาณ 6,000 บาท จ่ายหนี้บัตรเงินสดยูโอบี ค่าแว่นตา ค่าไฟ น้ำ และอินเทอร์เน็ต
“ในปีแรกตั้งใจไว้ว่ารายได้ส่วนใหญ่จะนำไปจ่ายหนี้ ที่นำเงินมาลงทุนให้หมดก่อน และหวังว่าปีหน้าจะดีขึ้น ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่ได้ตามเป้าหมายแต่ก็ยังอยู่ได้ เพราะทำงานคนเดียว ไม่มีลูกจ้าง และตัวเราเองก็มีประสบการณ์ด้านการขายและบริการลูกค้าอยู่แล้ว”
เทคนิคในการทำธุรกิจร้านแว่นตา จะต้องรู้ว่าลูกค้าชอบแว่นตาแบบไหน และเทรนด์ของสินค้าเป็นอย่างไร ธนกฤต จะเลือกแว่นตาคนทำงาน และวัยรุ่นนิยม เป็นแว่นตากรอบบาง โดยเฉพาะสีพิงค์โกลด์ จะได้รับความนิยมจากลูกค้าที่เป็นผู้หญิง ส่วนแว่นตาที่นำมาจำหน่ายมียี่ห้อหลากหลาย อาทิ Coca Cola, Champion, Kinping Super, aldini และเลนส์ยี่ห้อ Crystal และ CARO Lens
ใช้สื่อออนไลน์ดันยอดขาย
ส่วนการทำตลาด จะเลือกใช้สื่อทางเพจ เฟสบุ๊ค ไลน์ สื่อสารกับลูกค้า โดยเฉพาะแนะนำแว่นตาใหม่ๆ และพูดคุยกับลูกค้าทั้งก่อน และบริการหลังการขาย จึงทำให้ในปัจจุบันมีฐานลูกค้าในออนไลน์อยู่ประมาณ 300 ราย
ธนกฤต กล่าวว่า ธุรกิจร้านแว่นตา เป็นธุรกิจที่เชี่ยวชาญที่สุดและจะทำต่อเนื่อง และถ้าเก็บเงินได้มากพอก็จะซื้ออุปกรณ์เข้ามาเพิ่ม เช่น เครื่องตัดเลนส์ระบบออโต้ และเครื่องวัดสายตาขนาดใหญ่ เพื่อรองรับลูกค้าในอนาคต
“ความฝันของผมอยากมีลูกค้าเพิ่มขึ้น มียอดขายเพิ่มขึ้น ทำงานไม่ต้องเครียด ไม่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันใดๆ”
#ร้านแว่นตาธนกฤต #ยืนด้วยลำแข็งตัวเอง #เปิดร้านแว่นตาด้วยเงินลงทุน2แสนกว่าบาท #ทำธุรกิจของตัวเอง #พนักงานแว่นท็อปเจริญ