กองบรรณาธิการ
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปอส.ตร.) ดำเนินการตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมของร้านค้าออนไลน์ หรือร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ พบว่า ร้าน toyworld ได้มีการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมหลากหลายประเภทที่เข้าข่ายผิดกฎหมายวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบ ตรวจค้น และจับกุมจริง ณ สถานที่ตามหมายค้นของศาลอาญา ตรวจสอบพบเครื่องวิทยุคมนาคม ดังนี้ 1.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทวิทยุสื่อสาร ตราอักษร BAOFENG รุ่นต่าง ๆ 2.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) 3.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทเครื่องรบกวนหรือตัดสัญญาณ (Jammer) 4.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภท GPS Tracker 5.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภท 4G WiFi ชนิดใส่ซิมการ์ด รวมจำนวน 2,515 ชิ้น โดยทั้งหมดเป็นเครื่องฯ ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจาก เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นายไตรรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวของร้าน toyworld. เป็นการกระทำความผิด ในข้อหา มี นำเข้า และค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตาม ม. 6 และต้องได้รับโทษตาม ม. 23 โดยระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากการตรวจค้นจับกุม ณ สถานที่ตามหมายค้นของศาลอาญาดังกล่าว ปรากฏของกลางจำนวนทั้งหมด 23 รายการ รวมจำนวน 2,515 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางเป็นเงิน 4,827,120 บาท ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการส่งคดีตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องแล้ว
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมและวิทยุคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการตรวจสอบทุกรูปแบบ แต่ก็ยังคงมีประชาชนหรือบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้จำหน่ายและผู้ใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคม ที่ขาดความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต หรืออะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจำหน่ายหรือใช้งาน ตามที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมกำหนดไว้ ซึ่งประชาชนผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน กสทช. คอลเซ็นเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย) เนื่องจากสำนักงานฯ เห็นว่าหากประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ก็จะได้ไม่ต้องกระความทำผิดตามกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
“ปี พ.ศ. 2564 สำนักงานฯ จะดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในเรื่องของการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมผ่านออนไลน์ หรือร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ไม่ถูกกฎหมาย” นายไตรรัตน์ กล่าว
#กสทช #ศปอสตร #จับเครื่องวิทยุสื่อสาร #โดรน #แอนดรอยด์บ็อกซ์