เหตุใดการประชุม ‘สองสภา’ ของจีน จึงเป็นที่จับตาจากทั่วโลก

ซินหัว

ปักกิ่ง, ซินหัว — ห้วงยามสมาชิกสภานิติบัญญัติและสภาที่ปรึกษาทางการเมืองระดับชาติของจีนตบเท้าเข้าร่วม “การประชุมสองสภา” ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 มี.ค. นี้ หลายฝ่ายทั่วโลกจึงพากันจับตาอย่างใกล้ชิดว่าการประชุมทางการเมืองครั้งสำคัญที่จัดขึ้นประจำทุกปีนี้ จะชี้นำและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศในอีกหลายปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง

การประชุมสองสภาในปีนี้ที่กลับมาจัดตามกำหนดการปกติในเดือนมีนาคมหลังถูกเลื่อนวันเวลาในปี 2020 เพราะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มีความสลักสำคัญเป็นพิเศษ โดยจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน เพิ่งประกาศชัยชนะโดยสมบูรณ์ในการขจัดความยากจนขั้นสูงสุด และจะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025)

เหล่าสมาชิกสภานิติบัญญัติจะหารือเกี่ยวกับแผนพัฒนาข้างต้น รวมถึงเป้าหมายระยะยาวจนถึงปี 2035 ซึ่งดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกเพราะสะท้อนให้เห็นทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะเวลานี้ที่จีนจะเร่งฝีเท้าสู่การพัฒนารูปแบบใหม่อย่าง “วงจรคู่” (dual circulation) ที่ตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยมีตลาดในประเทศเป็นแกนหลัก

ประชาคมโลกต่างคาดหวังว่าจีนจะสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดมหึมาของตนเองได้อย่างเต็มที่ พร้อมเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยความมุ่งมั่นอันหนักแน่นที่จะเปิดกว้างมากขึ้นของจีนนั้นหมายถึงพลวัตและผลประโยชน์ที่มากขึ้น สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเติบโตที่ยั่งยืนของโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยอย่างหนักภายใต้เงามืดของโรคระบาดใหญ่ ที่ส่งผลให้หนทางการฟื้นตัวยังยืดยาวไกลและมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่ และกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวของโลกที่มีการเติบโตเชิงบวกในปี 2020 ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นและโอกาสมากขึ้นในห้วงยามที่โลกกำลังเผชิญมรสุมเลวร้าย

รายงานติดตามแนวโน้มการลงทุนของสหประชาชาติ (UN) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม ระบุว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกในปี 2020 ลดลงร้อยละ 42 จาก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45.55 ล้านล้านบาท) ในปี 2019 ทว่าตัวเลขการลงทุนดังกล่าวในจีนกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในปีเดียวกัน ส่งผลให้บรรดานักลงทุนทั่วโลกเชื่อมั่นตลาดจีน

“ตลาดที่น่าสนใจที่สุดจากทั่วโลกคือตลาดภายในประเทศของจีน” คิโยะยุกิ เซกุจิ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำสถาบันโลกคดีศึกษาแคนอน (Canon Institute for Global Studies) ในญี่ปุ่นกล่าว “นี่ไม่ใช่ฉันทามติในหมู่บริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นฉันทามติในหมู่บริษัทแนวหน้าของโลกด้วย”

ขณะทั่วโลกต่อสู้กับความยากจนพร้อมเผชิญวิกฤตโรคระบาดรุมเร้า หลายประเทศจึงแสวงหาแรงบันดาลใจจากจีนที่ประสบความสำเร็จในการขจัดความยากขั้นสูงสุดในศักราชแห่งโรคระบาด และทำความเข้าใจแผนการพัฒนาขั้นถัดไปของจีนเพิ่มเติมผ่านการประชุม “สองสภา”

ปัญหาความยากจนที่ถือเป็นโจทย์หินของทั่วโลกมายาวนาน ถูกเพิ่มพูนความยากขึ้นอีกหลายเท่าตัวด้วยโรคระบาดใหญ่ โดยข้อมูลจากรายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของสหประชาชาติฉบับล่าสุดระบุว่าการสูญเสียตำแหน่งงานและรายได้ผลักดันผู้คนร่วงหล่นสู่หุบเหวแห่งความยากจนราว 131 ล้านคนในปี 2020

อย่างไรก็ดี “จีน” ยังคงมุ่งมั่นทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะกำจัดความยากจนขั้นสูงสุดในประเทศแม้เผชิญกับโรคระบาดใหญ่ โดยชาวชนบทยากไร้ที่ใช้ชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนในจีนเกือบ 100 ล้านคน สามารถหลุดพ้นจากความยากไร้ได้สำเร็จในปีที่ผ่านมา หลังจากผ่านพ้นความพยายามอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี ถือเป็นการบรรลุเป้าหมายบรรเทาความยากจนเร็วกว่าที่สหประชาชาติกำหนดไว้ถึง 10 ปี

จีนได้กรุยทางการบรรเทาความยากจน และสร้างสรรทฤษฎีต่อต้านความยากจนด้วยอัตลักษณ์จีน รวมถึงเป็นตัวอย่างแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อีกมากมายที่เผชิญความท้าทายลักษณะเดียวกัน

ช่วง 5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ จีนจะยังคงส่งเสริมระบบพหุภาคีและจับมือกับพันธมิตรทั่วโลกสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างเพื่อส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน หลังจากปีก่อนจีนได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กับอีก 14 ประเทศ และเสร็จสิ้นการเจรจาข้อตกลงการลงทุนกับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งความสำเร็จเหล่านั้นเกิดจากความพยายามอย่างหนัก ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรง การเติบโตของลัทธิโดดเดี่ยว (Isolationism) และลัทธิกีดกัน (protectionism)

การประชุม “สองสภา” จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าจีนยังคงมุ่งมั่นเปิดกว้างและสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นบนเวทีโลก โดยซาร์โก ออบราโดวิก สมาชิกสภานิติบัญญัติของเซอร์เบีย กล่าวว่า จีนเป็นพันธมิตรที่ทรงคุณค่าของเซอร์เบีย ชี้ว่าจีนได้แบ่งปันความสำเร็จในการพัฒนาผ่านแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ ครั้นประชาคมโลกตกอยู่ใต้เงามืดของโรคระบาดใหญ่อันยืดเยื้อและการฟื้นตัวอันเชื่องช้าเป็นเวลานาน จึงเป็นที่วาดหวังว่าผู้คนทั่วโลกที่กำลังหาทางกลับมายืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง จะพานพบความเชื่อมั่น พลังกระตุ้น และแรงบันดาลใจสดใหม่จาก “จีน” ก่อนย่างก้าวสู่อนาคตต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share