ดีแทคเปิดโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ช่วยผู้ค้ารายย่อย

กองบรรณาธิการ

ดีแทคประกาศช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ด้วยโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” มุ่งติดปีกความรู้การทำธุรกิจยุคดิจิทัล ปรับวิกฤตสู่โอกาส สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และเปลี่ยนผ่านโอกาสค้าขายจากตลาดสดสู่ตลาดออนไลน์ บนหลักคิดลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล สร้างสังคมออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงโอกาสเท่าเทียมกัน หรือ Digital Inclusion มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติข้อที่ 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในอัตราเร่ง และกำลังสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อันเป็นผลมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital divide) โดยประชากรในกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล อันเนื่องมาจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและความสามารถทางการเงินในการเข้าถึง หรือเข้าถึงแต่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากกรอบความคิดที่ปิดกั้นและทักษะความสามารถในการใช้งาน

DIGITAL INCLUSION กลยุทธ์ดีแทคที่มุ่งสร้างเน็ตเวิร์คเพื่อทุกคนและติดอาวุธทักษะดิจิทัลในกลุ่มเปราะบาง

ดีแทค เชื่ออย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีการสื่อสารและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดการเติบโตทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคมและประเทศ แต่การเติบโตนั้นจะเกิดขึ้นจะต้องอาศัย 2 ปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Digital infrastructure) และ ปัจจัยด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) ซึ่งทั้งสองปัจจัยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขยายโอกาสให้ทุกคนในประเทศเข้าถึงอย่างทั่วถึง ซึ่งเรียกว่า Digital Inclusion

“Digital Inclusion คือกลยุทธ์สำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และดิจิทัลไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความพยายามของดีแทคในการมีส่วนร่วมต่อประชาคมโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs Goal ข้อที่ 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities)” นายชารัด กล่าว

โครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” จะช่วยติดอาวุธทักษะทางดิจิทัลให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ดีแทคจะเปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” เพื่อเข้ารับการอบรมและคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสามารถประกอบธุรกิจค้าขายได้บนพื้นที่ออนไลน์ ผ่านความรู้ 6 หัวข้อสำคัญ

พื้นฐานการตลาดยุคดิจิทัล ครอบคลุมตั้งแต่การตลาดในปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภค กระบวนการตัดสินใจซื้อ และเครื่องมือการทำการตลาดต่างๆ เรียนรู้แพลทฟอร์มสำหรับการทำการตลาดออนไลน์ เพราะสินค้าดีแค่ไหน แต่นำเสนอผิดที่ ก็เหมือนเลือกรองเท้าผิดข้าง มาเรียนรู้แพลทฟอร์มการตลาดให้เข้ากับสินค้า ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Instagram, YouTube ฯลฯ เพิ่มยอดขายให้ปังกว่าเดิม การถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับการตลาดออนไลน์ เคล็ดลับควรรู้ก่อนถ่ายภาพ เทคนิคการจัดวางองค์ประกอบเบื้องต้น เทคนิคการถ่ายภาพอาหารและสินค้าสำหรับการขายออนไลน์ การสร้างคอนเทนท์และจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มความน่าสนใจให้สินค้าด้วยกลยุทธ์การสร้างสรรค์คอนเทนท์เพื่อการสื่อสาร โดยดีแทคได้ร่วมมือกับ “เพจอีจัน” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาคอนเทนต์ และบริหารเพจตลาดขายสินค้าชื่อดังอย่าง “เพจอีจันตลาดแตก” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 11 ล้านราย

ปักหมุดธุรกิจติดดาว ครอบคลุมตั้งแต่การโปรโมทร้านด้วยการปักหมุดบน Google Maps และการใช้ Google Business เพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างการรับรู้ ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการสร้างตัวตนบนโลกดิจิทัล (Digital presence)

คำแนะนำด้านธุรกิจ การปรับปรุงคุณภาพและแพ็กเกจการนำเสนอสินค้าให้ยิ่งขายดียิ่งขึ้น รวมไปถึง ความรู้สำคัญเกี่ยวกับระบบภาษีการค้าขายอี-คอมเมิร์ซ การบริหารการเงินและวิธีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต และขั้นตอนการขอมาตรฐานรับรองคุณภาพอาหารและบริการ

โครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ 100 ราย จากทั่วประเทศ เพื่อเข้ารับการอบรมและบริการพี่เลี้ยงจนกว่าจะสามารถค้าขายออนไลน์ได้ประสบความสำเร็จเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน นอกจากนี้ ดีแทคยังจะช่วยโปรโมทร้านผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของดีแทค พร้อมร่วมเป็นร้านค้ารับสิทธิพิเศษกับดีแทครีวอร์ด และกิจกรรมอื่นๆ

#ดีแทค #ดีแทคเน็ตทำกิน #โควิด19 #ปรับวิกฤตสู่โอกาส #สร้างตัวตนบนโลก #DigitalInclusion

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share