กองบรรณาธิการ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำทีมผู้บริหารศูนย์วิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วยดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) แถลงข่าวงาน NSTDA Beyond Limits: 3 Decades of Impacts (3 ทศวรรษ แห่งความต่อเนื่อง ความสำคัญและผลกระทบ) Episode 1 : เกษตรและอาหาร นำเสนอภาพรวมผลงานวิจัยเด่นด้านเกษตรและอาหารที่ สวทช. มุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศชาติมาตลอด 30 ปี ขณะเดียวกันพร้อมสานต่อนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมาต่อยอดสร้างนวัตกรรมหนุนเสริมภาคชุมชนและอุตสาหกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่30 ธันวาคม 2534 เพื่อเป็นหน่วยงานของรัฐที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งในปี 2564 ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของ สวทช. โดยในงานแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการสรุปถึงภาพรวมผลงานวิจัยเด่นด้านเกษตรและอาหาร ที่มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
“สวทช. มุ่งเป้าวิจัยกลุ่มพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น อีกทั้งยังรับมือกับภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งทนทานต่อโรคและแมลง ซึ่งมีข้าวหลายสายพันธุ์ได้รับการรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เช่น ข้าวเจ้าพันธุ์หอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิรินต้านทานโรคไหม้ ข้าวเหนียวพันธุ์น่าน 59 ต้านทานโรคไหม้และขอบใบแห้ง ส่วนพันธุ์ข้าวที่ได้รับรองจากรมการข้าว เช่น ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 51 ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 73 นอกจากนี้ สวทช. ยังพัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง เช่น ข้าวเจ้าพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเจ้าพันธุ์สินเหล็ก ซึ่งได้รับรองพันธุ์พืชใหม่จากกรมวิชาการเกษตรแล้วทั้ง 2 สายพันธุ์
สำหรับการพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตข้าว ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลทางพันธุกรรมและลักษณะเด่นของสายพันธุ์ข้าวไทย 250 สายพันธุ์ โมบายแอปพลิเคชันตรวจวินิจฉัย 12 โรคสำคัญในข้าว รวมทั้งมีการใช้ระบบจัดการงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชในระดับภูมิภาคอาเซียน
มันสำปะหลัง มีการพัฒนาสายพันธุ์พิรุณ 1, 2 และ 4 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 72 ซึ่งโดยรวมมีลักษณะเด่นที่ให้แป้งสูงและปริมาณไซยาไนด์ต่ำ ในด้านการแปรรูปได้พัฒนาฟลาวมันสำปะหลังไซยาไนด์ต่ำปราศจากกลูเตนสำหรับทำเบเกอรี่และขนมปัง ถุงพลาสติกสลายตัวได้จากมันสำปะหลังสำหรับใช้แยกขยะอินทรีย์ ที่สำคัญในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง สวทช. ได้นำเทคโนโลยีตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิคอีไลซา (ELISA) และการผลิตท่อนพันธุ์มันปลอดโรคใบด่างฯ ไปช่วยกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในการคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค
ขณะที่ อ้อย มีการวิจัยค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกสายพันธุ์อ้อยที่มีพันธุกรรมหวาน พร้อมทั้งพัฒนาพันธุ์อ้อยพันธุ์ภูเขียว 2 และภูเขียว 3 อ้อยพันธุ์ดีที่มีความหวานและผลผลิตสูง ซึ่งได้รับการรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ในด้านการผลิตมีการพัฒนาโมเดลการจัดการเกษตรแปลงใหญ่สำหรับอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงชุดตรวจ Dextran ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิต สำหรับ ยางพารา สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยรักษาสภาพน้ำยางไม่ให้เน่าเสีย การใช้สารทดแทนแอมโมเนียที่เป็นอันตราย รวมถึงการพัฒนาน้ำยางดิบเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ”
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับ ด้านอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ สวทช. วิจัยปรับปรุงพัฒนาพันธุ์และเมล็ดพันธุ์พืช เช่น พันธุ์พริกเผ็ด พันธุ์มะเขือเทศรับประทานสด พันธุ์มะเขือเทศสแน็กสลิมต้านทานโรคใบหงิกเหลือง อีกทั้งยังจัดทำโครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็ง อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาพันธุ์ เพิ่มการส่งออกขึ้นประมาณ 10% ต่อปี
“นอกจากนี้เทคโนโลยีด้านการเกษตรสวทช. ได้คิดค้นพัฒนาชุดตรวจทางการเกษตร จำนวนมาก เช่น PlantSmart ชุดตรวจหาเชื้อก่อโรคในพืช ด้วยเทคนิค ELISA ชุดตรวจโรคผลเน่าแบคทีเรียของพืชตระกูลแตง การพัฒนาชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น โปรตีน VipPro กำจัดหนอนกระทู้หอมและหนอนกระทู้ผัก ราบิวเวอเรีย สำหรับปราบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยแป้ง และ ไวรัส NPV กำจัดหนอนศัตรูพืช ส่วนด้านเกษตรสมัยใหม่ ได้ส่งเสริมให้เกษตรนำระบบดิจิทัลเข้ามาวางแผนระบบเกษตรในภาพรวม อาทิ TAMIS ระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกร Agri-Map ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการจัดการเชิงรุก Powered by What2Grow และ FAARMis ระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์”
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ในด้านอาหารและอาหารสัตว์ สวทช. วิจัยและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑอาหารที่หลากหลายในระบบอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ตัวอย่างอาหารคน เช่น เทคโนโลยีการเร่งการหมักน้ำปลาด้วยเอนไซม์ การพัฒนาต้นเชื้อสำหรับหมักแหนม ผักกาดดอง และน้ำส้มผลไม้ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มโปรตีนสูง ไส้กรอกไขมันต่ำ ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวพาสเจอร์ไรซ์ ขนมปังปราศจากกลูเตน ส่วนอาหารสัตว์ มีทั้งการพัฒนาอาหารสัตว์หมักและจุลินทรีย์สำหรับอาหารสัตว์ นวัตกรรมสารดูดจับชีวพิษเชื้อราในอาหารสัตว์ ไข่ออกแบบได้ Pentozyme เอนไซม์ประสิทธิภาพสูงสำหรับสัตว์ อีกทั้งยังมีการตั้งโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ชีวภาพแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อผลิตเชื้อจุลินทรีย์และอาหารสัตว์หมักชีวภาพในระดับอุตสาหกรรมด้วย
· พัฒนาสายพันธุ์ข้าว-วิจัย ‘สารสำคัญ’ ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ในปี 2564 ทางไบโอเทคยังคงให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในด้านเกษตรกรรมนั้น ไบโอเทคมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างข้าว เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดา ข้าวเจ้าพันธุ์ธัญญา 6401 โดยไบโอเทคมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการปลูกทดสอบในแปลงและประเมินความพึงพอใจร่วมกับเกษตรกร ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกข้าวพันธุ์ดี ที่เหมาะสม เพื่อนำไปขยายผลการปลูกในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ คือ พันธุ์แดงโกเมน และพันธุ์ซันไชน์ ซึ่งเป็นมะเขือเทศเชอรี่ หวานกรอบ ผลดก ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง ให้ผลผลิตสูง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการถ่ายทอดพันธุ์ให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงการค้า และถ่ายทอดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร เพื่อใช้ในการผลิตผลสดต่อไป
“ในปี 2563 ที่ผ่านมา นักวิจัยไบโอเทคค้นพบราแมลงชนิดใหม่ของโลก (new species) มากกว่า 47 สายพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีการพบใหม่ก็จะมีการรวบรวมและเก็บรักษาไว้ที่คลังจุลินทรีย์ของไบโอเทค ที่ปัจจุบันมีมากถึง 90,000 สายพันธุ์ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายทั้งด้านเกษตรและอาหาร เช่น การพัฒนาสารชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งไบโอเทคมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตราบิวเวอเรีย และราเมทาไรเซียมให้แก่ภาคเอกชน อีกทั้งยังมีการขยายผลไปสู่ภาคเกษตรกรเพิ่มเติม ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตเชื้อรากำจัดแมลงใช้ในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันทางไบโอเทคกำลังวิจัยและพัฒนาสารชีวภัณฑ์ชนิดใหม่เพิ่มเติม เช่น รากำจัดไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญของพืชเศรษฐกิจหลายชนิด สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ไม่เป็นอันตรายต่อพืชปลูก เพื่อทดแทนสารเคมีที่ถูกระงับใช้และการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ
ดร.วรรณพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับด้านอุตสาหกรรมอาหาร ไบโอเทค มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ภาคเอกชนมากมาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ eLysozyme ชนิดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารกุ้ง โดยทำงานร่วมกับ บริษัทโอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด และบริษัทดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตภัณฑ์เบตากลูแคนและยีสต์โพรไบโอติกสำหรับปศุสัตว์ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอเชียสตาร์ เทรด จำกัด ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมัก (น้ำมังคุด น้ำสับปะรด น้ำตาลมะพร้าว กระเทียมดำ) โดยทำงานร่วมกับ บริษัทเอแอนพี ออร์ชาร์ด 1959 จำกัด บริษัทซินอาบริว จำกัด บริษัทไทยอุดมอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด บริษัทนพดาโปรดักส์ จำกัด และผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกใหม่จากเห็ด ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง (น้ำตาลลิน) เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 180 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ตลอดจนลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
· สร้างมูลค่า ‘ยางพารา’ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ยกระดับผลิตภัณฑ์ยางสู่มาตรฐานสากล
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
กล่าวว่า เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานจริงและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีบทบาทในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ยางพารา พืชเศรษฐกิจของประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economy Model ทั้งนี้เป้าหมายของการวิจัยด้านยางพาราของเอ็มเทค สวทช. คือการยกระดับภาคการผลิต เพื่อช่วยเกษตรกรและอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท
“เริ่มจากน้ำยางสดและน้ำยางข้นที่ใช้เทคโนโลยีสารต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปยางแผ่น ช่วยลดมลพิษตกค้างในพื้นที่สวนยางกว่า 3,700 ไร่ น้ำยางข้นสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ซีเมนต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางข้นทางการค้า มีการนำไปใช้ทำถนนลาดยางกว่า 4,610กิโลเมตรใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ การนำกลับเนื้อยางจากของเหลือทิ้งและ by product ในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่โรงงานน้ำยางข้นเพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำยางข้นของไทยเป็นอุตสาหกรรม Zero Rubber Waste จนถึงระดับผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรมหรือใช้ในอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาสูตรยางสำหรับผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพสูงให้มีสมบัติตามความต้องการของอุตสาหกรรม ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานด้วยต้นทุนในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และช่วยแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมกว่า 50 บริษัท”
สำหรับในปี 2564 มีงานวิจัยที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบระดับอุตสาหกรรมและพร้อมส่งมอบ ได้แก่ สารช่วยให้น้ำยางจับตัว ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่น ทำเป็นยางก้อนถ้วยที่มีสมบัติเทียบเท่าเดิมและต้นทุนราคาที่ไม่เพิ่มขึ้น การลดปริมาณโปรตีนในถุงมือยางโดยร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อขยายโอกาสการเปิดตลาดของอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย และผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่เพื่อการเล่นและการเรียนรู้ อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตยางตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้น ต้องตระหนักถึงการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้เตรียมพัฒนากระบวนการผลิตยางแบบใหม่ ที่เรียกว่า “มาสเตอร์แบตช์ (Masterbatch) ยางธรรมชาติผสมสารตัวเติมด้วยกระบวนการแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับดการผลิตยาง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย
นาโนเทค ’64 ชูเทคโนโลยีคีเลชัน ตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านเกษตรและอาหารของประเทศ
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ทิศทางการเดินหน้าของนาโนเทคในปี 2564 ด้านเกษตรและอาหาร จะมุ่งเน้นเทคโนโลยีหลักอย่างเทคโนโลยีคีเลชัน (Chelation Technology) ผนวกกับศาสตร์ด้านนาโนเคมีและการวิเคราะห์ขั้นสูง นำไปสู่นวัตกรรมไทยที่ตอบโจทย์การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน มะม่วง และตอบความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อความยั่งยืนของประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจแบบ BCG โดยผลงานสำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยคีเลตของกรดอะมิโนธาตุอาหารเสริมสำหรับพืชเศรษฐกิจด้วยการฉีดพ่นทางใบ ที่มีจุดเด่นเรื่องเพิ่มการดูดซึม เร่งการเจริญเติบโตของพืช เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมลดค่าใช้จ่ายจากการสูญเสียธาตุอาหารทางดิน และธาตุอาหารเสริมอะมิโนคีเลตสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ โดยวิจัยพัฒนาต้นแบบสูตรธาตุคีเลตรวมคุณภาพสูงแบบจำเพาะ ที่สามารถพัฒนาให้เหมาะกับสัตว์เศรษฐกิจแต่ละประเภท เช่น สุกร ไก่ไข่ และโคนม ตอบความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น สุกร ที่มีมูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรกว่า 24,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ในปี 2564 นาโนเทคและกลุ่มน้ำตาลมิตรผล จะร่วมกันขยายผลการใช้ประโยชน์ชุดตรวจการเจือปนของเด็กซ์แทรนความไวสูงด้วยเทคโนโลยีนาโนเซนเซอร์ ในกระบวนการผลิตน้ำตาลเพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในโรงงานน้ำตาลทั้งหมด7 แห่งทั่วประเทศ
ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรและอาหารโดยนาโนเทคโนโลยีที่นาโนเทค วางเป้าหมายไว้คือ การสนับสนุนเพื่อยกระดับการผลิตอาหารจากพืชและสัตว์เศรษฐกิจไทย สร้างนวัตกรรม ปุ๋ย อาหารสัตว์คุณภาพสูง เพื่อใช้ในประเทศ ลดการนำเข้าวัตถุดิบราคาสูงดังเช่น ปุ๋ยหรือธาตุอาหารเสริมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น
· ขับเคลื่อนสมาร์ทฟาร์ม ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยี
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวถึงผลงานในปี 2563 เฉพาะในด้าน Smart Farm ว่า “เนคเทค สวทช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ เพื่อใช้เดินหน้าขับเคลื่อน Smart Farm สู่สังคมไทย สร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ร่วมกับ IoT และ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมในการปลูกตั้งแต่ต้น ส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพและประเมินปริมาณผลผลิต อาทิ ระบบอัจฉริยะเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ( AQUA GROW) ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch) ภายในแนวคิด Farm to School ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะแบบพอเพียง (HandySense) และระบบจัดการแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ (WiMaRC) ซึ่งทั้งหมดเน้นให้เกิดประโยชน์กับคนไทยในทุกระดับ มีผลสำเร็จที่เกิด เช่น Agri-Map มีผู้เข้ามาสืบค้นข้อมูลกว่า 43ล้านครั้ง สามารถทำโมเดลทำนายผลผลิตและค่าความหวานของอ้อยโดยได้ค่าความถูกต้องถึงร้อยละ 90 Thai School Lunch มีผู้ใช้งานทั่วประเทศถึง 58,046 บัญชี ครอบคลุมโรงเรียนที่ต้องจัดหาและปรุงอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนได้ทั่วประเทศ โดยในอนาคตจะพัฒนาให้มี AI มาช่วยในการบริหารจัดการส่งผลผลิตด้านการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารป้อนเข้าสู่โรงเรียน เป็นต้น ด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทีมนักวิจัยเนคเทค-สวทช. มุ่งวิจัยใช้เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์มาช่วยการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอาหารอีกด้วย”