ETDA เผย 4 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

กองบรรณาธิการ

รมว.DES เร่งผลักดันงาน ETDA ทั้งงานเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรม และงานยกระดับทักษะดิจิทัลในทุกภาคส่วน ชมการทำงานที่รวดเร็ว และเห็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทที่ชัดเจน ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุค New Normal พร้อมย้ำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมาตรฐานและมั่นคงปลอดภัย ต้องได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้าน ETDA ชง 4 ประเด็นผลักดันเชิงนโยบาย Digital ID – e-Meeting – e-Timestamp และ Digital Enabler ให้เห็นเป็นรูปธรรม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ร่วมประชุมกับคณะกรรมการกำกับ (บอร์ด) และคณะผู้บริหารบริหาร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เรื่องการทำงาน และบทบาทของ ETDA สำหรับปีงบประมาณ 2564 โดยนายชัยชนะ  มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA ได้นำเสนอประเด็นผลักดันเชิงนโยบายที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ 

การผลักดันเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของประเทศ ทั้งเรื่องกฎหมายและมาตรฐานที่รองรับในการเชื่อมโยงข้อมูล Digital ID ระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ ได้แนะนำว่า บทบาทของ ETDA สำคัญมากในการสนับสนุนการออกมาตรฐาน กฎระเบียบ ซึ่งควรมีการเตรียมให้พร้อมก่อนที่พระราชกฤษฎีกาดิจิทัลไอดีจะประกาศใช้ 

การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ e-Meeting โดยเฉพาะการประชุมที่ต้องการให้มีผลทางกฎหมาย ซึ่งจะรวมไปถึงการประชุมวาระลับ การลงคะแนนเสียงโหวต (e-Voting) โดยผู้ใช้งานจะมีทั้งหน่วยงานของรัฐ และการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทาง ETDA ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น Website, Facebook เป็นต้น ทั้งในประเด็นมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบควบคุมการประชุม การประกาศระบบควบคุมการประชุมฯ ที่ได้รับการรับรอง ปัจจุบันประกาศแล้ว 1 ระบบ และรายชื่อผู้ประเมินความสอคดล้องด้วยตนเอง (Self-assessment) ที่มีแล้ว 9 ราย โดย รัฐมนตรีฯ เห็นควรให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจเข้ามารับการประเมินมากขึ้น เพื่อให้เกิดระบบที่รองรับ e-Meeting ที่ได้มาตรฐานสำหรับเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

การปรับบทบาทของ ETDA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ตามกฎหมายในปีนี้ ทำให้อาจจะต้องมีการส่งต่อบริการบางอย่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ

การเร่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็น Digital Enabler หรือคนที่มีความสามารถด้านดิจิทัล ที่ ETDA ได้มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงคนที่กำลังว่างงาน โดยรูปแบบการเรียนมีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และยังมีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพด้านดิจิทัลและมาตรฐานฝีมือแรงงานด้านดิจิทัล โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการรับรอง คนที่ผ่านการอบรมจะได้ใบประกาศนียบัตร (Certificate) ที่จะเป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาอาชีพ หาแหล่งเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีฯ ยังได้เสนอแนะว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การเฝ้าระวังเรื่องออนไลน์ ซึ่ง ETDA มีสายด่วน 1212 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์อยู่แล้ว (1212OCC) (www.1212occ.com) จึงควร

มีการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ เมื่อมีปัญหาแล้วหากต้องการจะได้รับการแก้ไขต้องทำอย่างไร เพราะปัญหาปัจจุบัน คือ คนไม่อยากทำธุรกรรมออนไลน์เพราะกลัวเรื่องเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมา ETDA ได้จัดเก็บตัวเลขการได้รับร้องเรียน หรือปรึกษาเข้ามาถึง 4,377 เรื่อง และได้รับการแก้ไขปัญหาแล้วถึง 83% (ข้อมูล 1 ต.ค. 63 – 27 ม.ค. 64) พร้อมกันนี้ ทางรัฐมนตรีฯ ยังได้ขอบคุณกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน สำหรับการทำงานอย่างทุ่มเทในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้เริ่มต้นได้ไม่นาน แต่ก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในบทบาทของ ETDA ที่ชัดเจนขึ้น ตลอดจนความรวดเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุค New Normal ซึ่งธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมาตรฐานและมั่นคงปลอดภัย จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย

#ETDA #DigitalID #eMeeting #eTimestamp #DigitalEnabler #DES

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share