กองบรรณาธิการ
เศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์พบว่าอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตมากขึ้นถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าถึง 35,559 ล้านบาท และขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมสำรวจ (Earth Observation Sattlelite) และอุตสาหกรรมระบบดาวเทียมนำทาง (GNSS) ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้งานอย่างกว้างในหลายภาคส่วน ทำให้รัฐบาลไทยเร่งส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการในประเทศไทยเพิ่มศักยภาพพร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถเพื่อเข้าสู่ Space Value Chain และแข่งขันได้ในระดับสากล หนึ่งในโครงการที่รัฐบาลไทยมุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโครงการหนึ่งคือ การพัฒนาผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในประเทศไทยจากการสร้างดาวเทียมดวงเล็กภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับบริษัท AIRBUS มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพได้เข้าสู่ Space Value Chain เพื่อยกระดับขีดความสามารถสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน
ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศและหัวหน้าห้องปฏิบัติการ GALAXI ของ GISTDA กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ประกอบการในธุรกิจการบินอยู่แล้ว การจะผลักดันให้เศรษฐกิจอวกาศภายในประเทศเติบโตได้จำเป็นต้องสร้างโอกาสและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถก้าวสู่อุตสาหกรรมอวกาศเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต GISTDA จึงได้กำหนดแผนส่งเสริมผู้ประกอบการดังกล่าวให้สามารถเข้าสู่ Space Value Chain ด้วยการผนวกแผนการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในประเทศไทยเข้ากับโครงการ THEOS-2 ซึ่งกำหนดให้บริษัท AIRBUS ประเทศฝรั่งเศส โดย Surrey Satellite Technology Ltd (SSTL) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมดวงเล็กในโครงการ THEOS-2 สั่งซื้อชิ้นส่วนดาวเทียมดวงเล็กจากผู้ประกอบการในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมชั้นแนวหน้าของโลก ซึ่ง GISTDA จะเป็นผู้คัดสรรผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเบื้องต้นด้วยตัวเอง ก่อนส่งให้ SSTL พิจารณาและคัดเลือกเพื่อดำเนินการสั่งผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้ในโครงการดังกล่าวต่อไป
ดร.ณัฐวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในประเทศไทยจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีอวกาศที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม “Made in Thailand” เท่านั้น หากยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอวกาศจากการต่อยอดทางธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วน Spacecraft ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่ม NEW S-Curve สำหรับผู้ประกอบการที่ GISTDA ได้คัดเลือกไว้ อาทิ AEROWORKS, CCS GROUP, LENSO AEROSPACE, JINPAO, SENIOR AEROSPACE, LEISTRITZ, PRO TITANIUM, GRAVITECH Thailand, Synergy Technology, CEants, RV Connex, Epro, Starmicro และ Cherry Tech เป็นต้น
“การที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในโครงการอวกาศระดับประเทศถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก เนื่องจาก นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปเป็น Tier-1 ใน Supply chain การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน/ดาวเทียม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศได้อีกมาก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับกระบวนการด้านคุณภาพในการผลิตของผู้ประกอบการไทยทั้งระบบ ให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนา และยกระดับขีดความสามารถของตนเองเพื่อสร้างความมั่นใจให้เป็นผู้ผลิตในธุรกิจดาวเทียมในระดับสากลในอนาคต”
ทางด้าน Dr. Viren Malhotra ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไมโครเมทิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทสำหรับประกอบดาวเทียม กล่าวว่า บริษัท ไมโครเมทิกส์ เป็นบริษัทเชื้อสายไทยแท้ และได้ใบรับรองการผลิตชิ้นส่วนในธุรกิจการบินระดับสากล และเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันงานอุตสาหกรรมการเดินอากาศ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยเราเริ่มจากกการทำชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จนกระทั่งรัฐบาลได้สนับสนุนเรื่องการขนส่งและการเดินอากาศ ช่วยให้เรามีส่วนในการผลิตชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ และเปิดโอกาสทางอาชีพให้บริษัทจ้างงานคนไทยได้เพิ่มขึ้น เช่น การซ่อมบำรุงเครื่องบิน เราได้จ้างช่างเทคนิคเข้ามาอบรม ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะด้านการบินและอวกาศให้กับแรงงานไทย นั่นจึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ก้าวไปสู่ระดับสากล และได้ทำงานร่วมกับ GISTDA และบริษัทชั้นนำของโลกอย่างแอร์บัส
ด้านนายตติย มีเมศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เลนโซ แอโรสเปซ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท Mechanical Parts สำหรับประกอบดาวเทียม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราผลิตชิ้นส่วนให้แอร์บัส ทั้งการตกแต่งภายใน เครื่องยนต์ ส่วนประกอบภายนอก และแผ่นปิดแผงวงจรต่างๆ ในห้องนักบิน เราเป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดยคนไทย และพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนไทย
การเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตดาวเทียมของประเทศไทยในครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ร่วมมือกับ GISTDA และองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตดาวเทียมในต่างประเทศ เพื่อนำมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในบริษัทของเรา เพื่อให้เกิดเป็นทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่บริษัทของเราไม่เคยทำมาก่อน รวมไปถึงได้เรียนรู้เรื่องข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องการเทคโนโลยีอวกาศของโลก ที่ผ่านมา ความร่วมมือของภาคเอกชนในการทำโครงการขนาดใหญ่ และมูลค่าสูงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่พอ GISTDA มีนโยบายที่จะส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการในประเทศไทยเข้าสู่ Space Value Chain และแข่งขันได้ในระดับสากล จึงทำให้เราสามารถร่วมมือกับหลายๆ บริษัทในประเทศเพื่อผลิตดาวเทียมสัญชาติไทยขึ้นมาได้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างองค์กร ในอนาคตอาจจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่อการผลิตในระดับชาติ หรือโครงการอวกาศที่ทันสมัยในประเทศไทยได้
นอกจากนี้ Mr. Ketan Pole ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี.ซี.เอส. กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทสำหรับดาวเทียมเช่นกัน ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทของเราได้ผลิตชิ้นส่วนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการบินทั้งโบอิ้ง และแอร์บัสอยู่แล้ว เป็นบริษัทสัญชาติไทยบริษัทแรกที่ได้รับใบรับรอง NADCAP เมื่อปี พ.ศ. 2552 และยังเป็นบริษัทแรกที่ได้รับความร่วมมือในระดับสากลในการสนับสนุนชิ้นส่วนเครื่องบิน ผมเห็นว่างานด้าน Aerospace จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการผลิตดาวเทียม เราจึงมองว่า เราได้ขยายศักยภาพการทำงานของเราในด้านเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งเป็นการต่อยอดงานด้านการบินพาณิชย์ที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ตลอดจนการเรียนรู้งานด้านการออกแบบดาวเทียมที่ยังได้ที่ปรึกษาชั้นเยี่ยมอย่างแอร์บัสมาช่วยให้เราสามารถทำงานนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คนไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในด้านทักษะการออกแบบดาวเทียม ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เราไม่เคยเรียนรู้ที่ไหนมาก่อน Mr. Ketan Pole กล่าว
ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายบริษัทที่ GISTDA คัดเลือกให้ SSTL ซึ่งแบ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนประเภท Mechanical Parts และ Electronic Parts โดย SSTL ได้เริ่มดำเนินงานกับผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมแล้ว เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกนำไปประกอบเป็นชิ้นส่วนของดาวเทียมดวงเล็กภายใต้โครงการ THEOS-2 ที่จะถูกนำส่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย