อุตสาหกรรมข้าวไทยปี 2021 : โอกาสและความท้าทายหลัง COVID-19

กองบรรณาธิการ

EIC ชี้ส่งออกไทยปี 2563 หดตัวจากการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ปี 2564 EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน

กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 การส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญแรงกดดันและความท้าทายหลายด้าน ทั้งราคาส่งออกที่พุ่งสูงขึ้นทำให้แข่งขันในตลาดโลกยากขึ้น จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลงจากปกติ รวมทั้งประเทศผู้นำเข้าข้าวหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดียซึ่งราคาต่ำกว่ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของเงินบาทสะสมในช่วงก่อนหน้า รวมถึงสายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่ตอบโจทย์ความนิยมบริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดย EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 จะอยู่ที่ 5.7 ล้านตัน หดตัว -24%YOY

สำหรับในปี 2564 EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ขยายตัว 31%YOY โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวไทย ขณะที่โครงการประกันรายได้ในปี 2563/2564 รวมถึงเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ที่ในเบื้องต้นกำหนดที่ 500 บาท/ไร่ จะยังจูงใจให้ชาวนาเพาะปลูกข้าวต่อไป ประกอบกับปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกข้าวนาปีปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา จะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอุปทานที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในปี 2564 มีแนวโน้มลดต่ำลงจากปีนี้ และทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยกลับมาปรับตัวดีขึ้น

·     แม้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตมาก โดย EIC มองว่า ยังมีหลากหลายปัจจัยที่กดดันการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องมาจากปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคเหนือที่ยังอยู่ในระดับต่ำมากในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังในฤดูการผลิตหน้า (ปีการผลิต 2563/2564) รวมไปถึงแนวโน้มการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทในปี 2564 ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อการส่งออกข้าวไทย ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร ซึ่งส่งผลให้ข้าวไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที

·         ภายหลังการระบาดของ COVID-19 ความมั่นคงด้านอาหารจะกลายเป็นประเด็นที่ทุกประเทศ

ให้ความสำคัญมากขึ้น โดยประเทศที่ยังพึ่งพาการนำเข้าข้าวเป็นหลัก มีแนวโน้มที่จะลดความเสี่ยง

ด้วยการกระจายการนำเข้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออกหลากหลายมากขึ้น ซึ่งแม้จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสส่งออกข้าวไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น แต่ก็เป็นแรงกดดันให้ไทยยังคงต้องพยายามรักษาตลาดส่งออกในปัจจุบันไว้ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวของไทยอาจลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากไทยลง และกระจายการนำเข้าข้าวจากคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามมากขึ้น

·     ในระยะต่อไป ไทยจะต้องเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ตลาดโลก รวมถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) ของการเพาะปลูกข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิต ด้วยการส่งเสริมให้เกิด

การรวมแปลงนาข้าวของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด และเกิดความคุ้มค่าในการนำ Agritech มาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงลดความผันผวนของปริมาณผลผลิต ซึ่งจะหนุนให้อุตสาหกรรมข้าวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

การระบาดของ COVID-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา สร้างความผันผวนต่ออุปสงค์และอุปทานข้าวในตลาดโลกอย่างมาก ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นจากสถานการณ์

ภัยแล้งรุนแรง อุปสรรคด้านการขนส่งข้าวในอินเดียรวมถึงการดำเนินมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวชั่วคราวในเดือนเมษายน 2563 ของเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารในประเทศท่ามกลางการระบาด

ของ COVID-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุปทานข้าวในตลาดโลก ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ อย่างฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง ที่ยังพึ่งพาการนำเข้าข้าว

จากต่างประเทศ ก็มีการเร่งนำเข้าข้าวเพื่อเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวในตลาดโลกในช่วงต้นปี 2563 ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นมาจากปลายปี 2562 อย่างก้าวกระโดด ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทยในปี 2563 นั้น ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยเสียหายค่อนข้างมาก และ Yield การเพาะปลูกข้าวลดลง โดยในฤดูการผลิตปี 2562/2563 มีปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหลือเพียง 29 ล้านตัน ลดลงจากปกติที่ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกจะอยู่ที่ราว 32-33 ล้านตัน/ปีทั้งนี้ราคาส่งออกข้าวของไทย เวียดนาม และปากีสถาน ในเดือนเมษายน 2563 ขยายตัวในช่วง 21-33% เมื่อเทียบกับระดับราคาในช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งยังขยายตัวสูงขึ้นจากราคาในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ราว 24-30%

อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกข้าวของอินเดียขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าราคาของประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่น ๆ โดยในเดือนเมษายน 2563 ขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับราคาในเดือนเมษายน 2562 และขยายตัว 5% เมื่อเทียบกับราคาในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากในฤดูการผลิตปี 2562/2563 มีปริมาณผลผลิตข้าวอินเดียออกสู่ตลาดมาก

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวลดลง หลังจากที่ความผันผวนของอุปสงค์และอุปทานข้าวในตลาดโลกบรรเทาลง โดยความต้องการข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวต่าง ๆ มีการกักตุนข้าวในปริมาณที่มากเพียงพอแล้ว ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากอุปสรรคในการขนส่งข้าวของอินเดีย ที่บรรเทาลงจากในช่วงต้นปี 2563 ประกอบกับมีปริมาณผลผลิตข้าวไทยเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เป็นต้นมา ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวในตลาดโลกส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามไปด้วย ยกเว้นราคาส่งออกข้าวของเวียดนามที่ยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวของเวียดนาม

EIC คาดปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 อยู่ที่ 5.7 ล้านตัน หดตัว -24%YOY แม้ว่าในสถานการณ์ปกติ ไทยจะมีปริมาณผลผลิตข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และเหลือเพียงพอสำหรับการส่งออก โดยหากในปี 2563 ไม่มีการผลิตข้าวเลย ปริมาณสต็อกข้าวจะยังเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศได้นานถึง 5 เดือน แต่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในปี 2563 ทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยในเดือนมกราคม-กันยายน 2563 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 9,041 บาท/ตัน หรือขยายตัวถึง 16% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยราคาข้าวเปลือกในปี 2563 ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานข้าวไทย ทั้งโรงสี และผู้ส่งออกข้าว มีต้นทุนการรับซื้อข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และผลักดันให้ราคาส่งออกข้าวไทยพุ่งสูงขึ้นตามมา ส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยลดลง และเสียเปรียบคู่แข่งอื่นในตลาดโลก

ขณะเดียวกัน ประเทศผู้นำเข้าข้าว ทั้งในภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง ยังหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดียมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากราคาส่งออกข้าวของอินเดียยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกข้าว

อื่น ๆ โดยในฤดูการผลิตปี 2562/2563

มีปริมาณผลผลิตข้าวอินเดียออกสู่ตลาดมาก ส่งผลให้การส่งออกข้าวของอินเดียสามารถกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวในช่วงต้นปี 2563 จากอุปสรรคในการขนส่งและส่งออกข้าว โดยปริมาณการส่งออกข้าว

ของอินเดียในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวสูงถึง 20% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่น ๆ รวมทั้งไทย มีปริมาณการส่งออกข้าวที่หดตัวในส่วนของปริมาณการส่งออกข้าวไทยที่หดตัวรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากการแข็งค่าสะสมของเงินบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งซ้ำเติมให้ข้าวไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2560 จนถึง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสะสมอย่างต่อเนื่อง 14% สวนทางกับค่าเงินรูปีอินเดีย และเงินดองเวียดนามเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าลง 9% และ 2% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ (Mass consumers) ยังมีแนวโน้มหันมาบริโภคข้าวพื้นนิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นข้าวที่มีลักษณะเหนียว นุ่ม จากเดิมที่นิยมบริโภคข้าวพื้นแข็ง ซึ่งมีความร่วน แข็งกระด้าง โดยพบว่าเวียดนามสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนิ่ม และยกระดับปริมาณผลผลิตข้าวพื้นนิ่มให้เพียงพอต่อการส่งออกได้แล้ว โดยสามารถเจาะตลาดการส่งออกข้าวพื้นนิ่มไปยังจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคหันมาบริโภคข้าวพื้นนิ่มมากขึ้น ขณะที่การส่งออกข้าวพื้นนิ่มของไทยนั้น มีเพียงข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มข้าวพรีเมียมและเป็นข้าวพื้นนิ่มที่มีการส่งออก แต่ก็ยังมีสัดส่วนปริมาณการส่งออกรวมกันเพียง 15% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยโดยรวมในปี 2562 โดยผลผลิตข้าวและการส่งออกข้าวไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นข้าวพื้นแข็ง โดยมีสัดส่วนปริมาณการส่งออก 44% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยโดยรวมในปี 2562 รองลงมาเป็นข้าวนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนปริมาณการส่งออก 29% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยโดยรวมในปี 2562 และที่เหลืออีก 12% เป็นการส่งออกข้าวประเภทอื่น ๆ เช่น ปลายข้าว ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง สะท้อนว่าปัจจุบันสายพันธุ์ข้าวไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความนิยมบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในปี 2563 การส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญแรงกดดันและความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากราคาส่งออกที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้แข่งขันในตลาดโลกยากขึ้น จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลงจากปกติ รวมทั้งประเทศผู้นำเข้าข้าวหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดีย ซึ่งราคาต่ำกว่ามากขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกข้าวของไทยยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าสะสมของเงินบาทในช่วงก่อนหน้า รวมถึงสายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่ตอบโจทย์ความนิยมบริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 5.2 ล้านตัน หรือหดตัวสูงถึง -26% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 แม้ว่าปริมาณผลผลิตข้าวของไทยจะมีแนวโน้มออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และราคาส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงสอดคล้องกับอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกล่าสุดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2563 ปรับลดลงจากเดือนกันยายน 2563 ถึง -7% และ -12% ตามลำดับ แต่แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2563 อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออกสินค้า ยังอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และจีนอีกด้วย ขณะที่การส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกา และเอเชียส่วนใหญ่เป็นการส่งออกแบบใช้เรือเทกอง จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดย EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 จะอยู่ที่ 5.7 ล้านตัน หดตัว -24% จากปี 2562 ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

สำหรับในปี 2564 EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ขยายตัว 31%YOY โดยความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกในปี 2564 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญยังคงมีแนวโน้มต้องการเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ จึงเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวไทย

ขณะที่ความต่อเนื่องของโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปี 2563/2564 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน 46,807 ล้านบาท รวมถึงมาตรการคู่ขนาน อย่างเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ที่ในเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 500 บาท/ไร่ จะยังจูงใจให้ชาวนายังคงเพาะปลูกข้าวต่อไป ประกอบกับการคาดการณ์ Yield การเพาะปลูกข้าวนาปี

โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฤดูการผลิตปี 2563/2564 อยู่ที่ 416 กิโลกรัม/ไร่ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ซึ่งอยู่ที่ 393 กิโลกรัม/ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกข้าวนาปี ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้มีปริมาณน้ำมากเพียงพอสำหรับเพาะปลูกข้าว และจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปีในฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ซึ่งอุปทานที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในปี 2564 มีแนวโน้มลดต่ำลง

จากปี 2563 และทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่น ๆ มีแนวโน้มกลับมาปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าแม้การคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 จะมีแนวโน้มสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ก็ถือว่ายังคงเป็นปริมาณ

การส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก โดย EIC มองว่า ยังมีหลากหลายปัจจัยที่กดดันการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องมาจากปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำมากในปัจจุบัน ที่อาจเป็นข้อจำกัดในการเพาะปลูกข้าวนาปรังในฤดูการผลิตปี 2563/2564 รวมไปถึงแนวโน้มการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทในปี 2564 ยังเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อการส่งออกข้าวไทย ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร ซึ่งส่งผลให้ข้าวไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที

EIC มองว่า ภายหลังการระบาดของ COVID-19 ความมั่นคงด้านอาหารจะกลายเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น โดยประเทศที่มีความสามารถในการเพาะปลูกและส่งออกข้าวอยู่แล้ว จะให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ที่ได้ระบุถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) ไว้ว่า หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมการผลิตอาหารในประเทศ และการดำเนินนโยบายนำเข้าหรือส่งออกอาหาร นอกจากนี้ จะต้องมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารในประเทศที่สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด Supply chain disruption มีการกระจายการนำเข้าอาหารจากหลากหลายแหล่ง รวมถึงประเทศผู้ส่งออกอาหารจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ เช่น การยกระดับคุณภาพอาหารให้ได้ตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้า การมุ่งผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกอาหารในตลาดโลกได้ต่อไป

EIC มองว่า หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มกำหนดปริมาณสต็อกข้าวสำรองในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น รวมถึงหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพในภาคการเกษตรยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญ ทั้งอินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และกัมพูชา ที่จะยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตข้าวมากเพียงพอ ทั้งสำหรับการบริโภคในประเทศ และเหลือสำหรับส่งออก หากเกิดความไม่แน่นอนหรือวิกฤติเช่นเดียวกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ขณะนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างรายได้เข้าประเทศ

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับต้น ๆ ของโลก ที่พยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวในประเทศมานานแล้ว ด้วยการพัฒนาพื้นที่การเกษตรมาตรฐานสูง (High-standard farmland) ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนทานต่อโรคและแมลงต่าง ๆ และใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ทันสมัยมาช่วยในการเพาะปลูก ทั้งนี้การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้จีนหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ยิ่งขึ้น

โดยรัฐบาลจีนระบุว่า จะเร่งผลักดันการพัฒนาพื้นที่ High-standard farmland อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และแม้ว่าจะมีการระบาดของ COVID-19 ในจีน แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จีนก็ยังคงสามารถพัฒนาพื้นที่ High-standard farmland ได้เพิ่มเติมอีก 2.9 ล้านเฮกตาร์ หรือคิดเป็น 55% ของพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2563 ว่าจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 5.3 ล้านเฮกตาร์ รวมถึงยังคงเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ High-standard farmland ให้ได้รวม 53 ล้านเฮกตาร์ และ 67 ล้านเฮกตาร์ ภายในปี 2563 และ 2565 ตามลำดับ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตธัญพืชของจีนให้ได้ถึง 500 ล้านตัน

EIC มองว่า การมุ่งรักษาความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ ผ่านการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกธัญพืชของจีนดังกล่าว จะส่งผลให้จีนมีผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากประเทศอื่น ๆ ลงในระยะต่อไป โดยพบว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ปริมาณการนำเข้าข้าวโดยรวมของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการส่งออกข้าวไทย ที่อาจสูญเสียตลาดส่งออกข้าวสำคัญอย่างจีนในอนาคต นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกข้าวของจีนยังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2562 ปริมาณการส่งออกข้าวของจีนอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน ขยายตัว 32% จากปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังอียิปต์ รวมถึงตลาดแอฟริกา อย่างโกตดิวัวร์ แคเมอรูน ไนเจอร์ อีกทั้งยังมีข้าวบางส่วนส่งออกไปยังสาธารณรัฐคองโก โมซัมบิก และเบนิน ซึ่งล้วนเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า หากจีนยังคงมีปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จีนอาจขยับจากคู่ค้ากลายมาเป็นคู่แข่งในตลาดส่งออกข้าวของไทยได้ในอนาคต

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นหลัก มีแนวโน้มลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการนำเข้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออกข้าวหลากหลายมากขึ้น EIC มองว่า ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวส่วนใหญ่ต้องเร่งเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ ประกอบกับอุปสรรคในการนำเข้าข้าว ทั้งราคาข้าวที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงปัญหาการขนส่งข้าวที่หยุดชะงักนั้น จะส่งผลให้ประเทศที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นหลัก มีแนวโน้มพยายามลดความเสี่ยงด้วยการพึ่งพาผลผลิตในประเทศ หรือกระจายการนำเข้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออกข้าวหลากหลายมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงการนำเข้าข้าวจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

แม้สถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสส่งออกข้าวไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็เป็นแรงกดดันให้ไทยยังคงต้องพยายามรักษาตลาดส่งออกข้าวในปัจจุบันเอาไว้ โดยการแข่งขันในตลาดข้าวโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกหลัก อย่างแอฟริกาใต้ และประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เช่น เบนิน แคเมอรูน ซึ่งปัจจุบันนำเข้าข้าวนึ่งจากไทยเป็นหลัก โดยประเทศเหล่านี้อาจพยายามลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้วยการลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวนึ่งจากไทยลง และหันมากระจายการนำเข้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออกข้าวหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่แข่งที่สำคัญอย่างอินเดีย และเวียดนาม

สำหรับในระยะต่อไป ไทยจะต้องเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก รวมถึงการเพิ่ม Yield การเพาะปลูกข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิต EIC มองว่า การที่ไทยจะสามารถกลับมาเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวในระยะข้างหน้าได้นั้น จะต้องเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่า ตลาดบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ของโลก

ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคา มีแนวโน้มหันมาบริโภคข้าวพื้นนิ่มมากขึ้น ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มให้มีคุณภาพ แข็งแรงทนทาน มีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นลง และยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มีปริมาณผลผลิตมากเพียงพอสำหรับการส่งออก ในระดับต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำ เพื่อให้ข้าวพื้นนิ่มไทยสามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตข้าวไทยยังสูงกว่าอินเดีย และเวียดนามค่อนข้างมาก โดยมีสาเหตุหลักมาจาก Yield การเพาะปลูกข้าวไทยที่ยังต่ำ ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยยังสูงกว่าราคาส่งออกข้าวของอินเดีย และเวียดนาม ประกอบกับในบางฤดูการผลิต ผลผลิตข้าวไทยยังได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม จึงส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทย และราคาส่งออกข้าวไทยมีความผันผวนค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญ รวมถึงการเพิ่ม Yield การเพาะปลูกข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิต ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการรวมแปลงนาข้าวของเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด และเกิดความคุ้มค่าในการนำ Agritech มาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงลดความผันผวนของปริมาณผลผลิต โดยนอกจากจะส่งผลให้ไทยสามารถรักษาความมั่นคงด้านอาหารในประเทศไว้ได้แล้ว ยังส่งผลให้ไทยไม่สูญเสียโอกาสในการส่งออกข้าวในช่วงที่ตลาดโลกมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทย ซึ่งจะหนุนให้อุตสาหกรรมข้าวไทยเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งนี้หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างใส่ใจสุขภาพ และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น EIC มองว่า เป็นโอกาสขยายตลาดการส่งออกข้าวพรีเมียมของไทย

โดยนอกจากการนำเสนอข้าวทางเลือกเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวออร์แกนิค ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำแล้ว ผู้ส่งออกข้าวไทยอาจพิจารณานำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) มาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวย้อนกลับได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน สอดรับกับแนวโน้มที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share