ทิพยประกันภัย จับมือ ซิสโก้ เปิดตัว แผนประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส เจาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง

กองบรรณาธิการ

ประกันภัยสัญชาติไทย “รายแรก” ลุยตลาดประกันภัยไซเบอร์ พร้อมดูแลองค์กรจากภัยไซเบอร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

 บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จับมือซิสโก้ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตระดับโลก ผนึกกำลังนำเสนอแผนประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส “TIP Cyber Guard Plus Powered by Cisco” เจาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางเพื่อปกป้องและคุ้มครองความเสี่ยงหรือความเสียหายที่เกิดจากการโจมตี หรือตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมทางไซเบอร์

โดยสถิติล่าสุดจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุว่าภัยคุกคามไซเบอร์ ปี 2563 ในช่วง 6 เดือนแรกพบภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ รวม 1,474 ครั้ง อันดับ 1 คือการโจมตีด้วยโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ หรือมัลแวร์ (Malicious code) คิดเป็น 36% ส่วนการโจมตีในรูปแบบความพยายามเจาะเข้าระบบ (Intrusion Attempts) อยู่ที่ 72 ครั้ง คิดเป็น 4.9%. จากแนวโน้มภัยคุกคามไซเบอร์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ จึงให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้น

แผนประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส “TIP Cyber Guard Plus Powered by Cisco” เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ทิพยประกันภัยร่วมกับซิสโก้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์องค์กรธุรกิจขนาดกลางที่กำลังมองหาความคุ้มครองจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยจากซิสโก้ช่วยตรวจเช็ค ประเมินความเสี่ยง และแนะนำให้ความรู้ก่อนการเลือกแผนประกันภัยไซเบอร์ที่เหมาะสมกับองค์กรของท่าน โดยยึดหลักการประเมินความเสียหายสูงสุดที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อสะท้อนค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสมและคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจของท่าน อาทิการสูญเสียรายได้จากภัยคุกคามทางไซเบอร์  ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนชุดคำสั่ง อุปกรณ์ที่ถูกทำลายจากภัยไซเบอร์ที่ปกติไม่ครอบคลุมในกรมธรรม์ประเภทอื่น โดยความคุ้มครองของประกันภัยไซเบอร์จะคุ้มครองภัยดังต่อไปนี้:

ความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ อันเนื่องมาจากระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายล่มหรือถูกโจมตี

ค่าใช้จ่ายในการกู้คืนข้อมูลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรับแจ้งเหตุความเสียหายและการสืบสวน พร้อมด้วยสายด่วนรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชม. ทุกวันไม่มีวันหยุด

ค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาการเสียชื่อเสียงและการสื่อสารในภาวะวิกฤต

ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคในการจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ความรับผิดอันเกิดจากความล้มเหลวในการรักษาข้อมูลที่เป็นความลับและจากการใช้งานเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต

ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี

การถูกขู่กรรโชกที่เกี่ยวกับระบบหรือข้อมูล/การถูกข่มขู่ว่าจะถูกเปิดเผยความลับ การแบล็คเมล

ความรับผิดต่อเนื้อหาทางสื่อออนไลน์

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัยเป็นบริษัทประกันวินาศภัยของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการรับประกันภัย และเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลอินชัวรันส์ เรามุ่งมั่นในการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดประกันภัยในยุคดิจิทัล (Digital Insurance) พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและอุตสาหกรรม โดยจับมือกับพันธมิตรผนึกกำลังเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการรองรับการรับประกันภัย รวมถึงรองรับความต้องการของธุรกิจในยุคดิจิทัล แผนประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส นี้ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทางทิพยประกันภัยมองเห็นโอกาส และเล็งเห็นความสำคัญเพื่อดูแลองค์กรธุรกิจขนาดกลาง

“การร่วมมือกับซิสโก้ครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือที่สำคัญขององค์กรที่มีความแข็งแกร่งในแต่ละด้าน เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าเรามีความพร้อมโดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับโลกอย่างซิสโก้ มาเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยดูแลและตรวจสอบความพร้อมขององค์กร รวมถึงการให้บริการที่ปรึกษาทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในมาตรฐานระดับสากล ขณะที่แนวโน้มของภัยทางด้านไซเบอร์มีมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการประกันเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเราหวังว่าประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส ของทิพยประกันภัยจะให้บริการที่คลอบคลุม และตอบโจทย์สิ่งที่องค์กรธุรกิจขนาดกลางต้องการ” ดร.สมพร กล่าว

นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน รักษาการกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์แนวโน้มภัยคุกคามไซเบอร์ที่สูงขึ้น และมีเคสตัวอย่างให้เห็นมากขึ้น องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมบุคลากร ระบบงาน และเทคโนโลยีไว้ให้พร้อม เพื่อให้สามารถระบุ สกัดกั้นและจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งระบบรักษาความปลอดภัยคือ “รากฐาน” ความสำเร็จของธุรกิจดิจิทัล ปัจจุบันมีทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่น การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวาง ซึ่งทุกอย่างเชื่อมต่อออนไลน์ มองในมุมที่ดีคือการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้มีช่องทางการโจมตีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share