ดีแทค เตรียมตั้งพันธมิตรเพิ่ม 2 รายปีหน้า รองรับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์

กองบรรณาธิการ

ดีแทค ตั้งเป้า ลดการฝังกลบขยะอิเล็กทรอนิกส์ เหลือศูนย์ภายในปี 2565 พร้อมตั้งเป้าเพิ่มจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2 เท่าในอนาคต

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทดีแทค กล่าวว่า  ภายในปี 2565 ทุกคนจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทวอทช์ ติดตัวมากกว่า 5 ชิ้นขึ้นไป ไม่นับรวมอุปกรณ์เชื่อมต่อภายในบ้าน และคาดว่าจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อมากกว่า 3,000 ล้านชิ้นทั่วโลก

ในส่วนของโทรศัพท์มือถือประกอบไปด้วยสารประกอบทั้งที่รีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ กระบวนการจัดเก็บและการคัดแยก ดีแทคในฐานะหนึ่งในซัพพลายเชนของการบริโภคโทรศัพท์มือถือ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ “ทิ้งให้ดี” ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามสู่เป้าหมาย Zero Landfills หรือลดการฝังกลบขยะให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2565 โดยลูกค้าดีแทคสามารถทิ้งโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วได้ที่จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ศูนย์บริการดีแทค 51 สาขาทั่วประเทศ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็น 2 เท่าในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะสามารถเก็บโทรศัพท์ที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จากลูกค้าได้ประมาณ 50,000 ชิ้น และบริษัทยังตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573

สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย มีการทิ้งในหลายรูปแบบ  โดยสัดส่วน 51 เปอร์เซ็นต์ของขยะอิเล็กทรอยิกส์ขายในรูปแบบขยะ ตามมาด้วยสัดส่วน 21  เปอร์เซ็นต์ เป็นการเก็บสะสม เช่น โทรศัพท์รุ่นเก่า นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์อีก 16 เปอร์เซ็นต์ที่ทิ้งในขยะทั่วไป และในสัดส่วนที่เหลืออีก 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นการส่งมอบหรือบริจาค ทั้งนี้ในส่วนของดีแทค มุ่งเน้นการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน 2 ส่วน คือ ส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ขายเป็นขยะและส่วนที่เก็บสะสมไว้กับตัว

ในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากดีแทคเอง มาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโครงข่ายสัญญาณหรือเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่  79 เปอร์เซ็นต์ มาจาก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากผู้ใช้งานทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ และ ที่เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ มาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากสำนักงานและดีแทคฮอล์ หรือโทรศัพท์ที่ใช้โชว์และใช้เดโม่ให้กับลูกค้าตามร้านและโชว์รูมต่างๆ

อรอุมา กล่าวว่า ขยะที่ทิ้งไม่ถูกสุขลักษณะจะทำให้เกิดค่าสารหนูและสารตะกั่วในดินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมได้ สำหรับการใช้หมายเลขโทรศัพท์ในประเทศไทยปัจจุบันมีทั้งสิ้น 97 ล้านเลขหมาย และมีเลขหลายที่ใช้สำหรับอุปกรณ์ไอที จำนวน 45 ล้านเลขหมาย รวมทั้งสิ้น 142 ล้านเลขหมาย เมื่อมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีการทิ้งที่ถูกต้องและมีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องด้วยกระบวนการรีไซเคิลจะทำให้สามารถนำแร่ที่สำคัญกลับคืนมาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ดีแทค ได้ร่วมกับบริษัท TES ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ช่วยกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ และบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพิ่มอีก 2 รายเพื่อรองรับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ซึ่งพันธมิตรทั้ง 2 รายคาดว่าจะสามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ปีหน้า   

“ดีแทคส่งเสริมให้ลูกค้าและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง มุ่งหวังว่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อนที่รั่วไหลจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” นางอรอุมา กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share