กองบรรณาธิการ
ดีอีเอส ย้ำ การปิดโซเชียลผิดกฎหมายพุ่งเป้าเฉพาะ “รายการที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย”
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการที่ดีอีเอส จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุม ในการประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคง พิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประสานงานการตรวจพบการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และดำเนินการร้องขอคำสั่งศาลในการระงับหรือลบข้อมูลผิดกฎหมายนั้น ล่าสุดแม้มีการตรวจพบข้อความที่มีการละเมิดกฎหมายกว่า 3 แสนเรื่อง แต่ในแง่การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในช่วง 2 วันที่ผ่านมามีเพียง 58 ราย
โดยในจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วย เข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ มาตรา 14 จำนวน 24 ราย โดยเป็นการนำเข้าข้อความเป็นเท็จ หลอกลวง เกิดความเสียหายและมีผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง และยุยุงปลุกปั่น เป็นต้น ที่เหลือเป็นการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 32 ราย และอื่นๆ 2 ราย ซึ่งกระจายเผยแพร่อยู่ในหลากหลายแพลตฟอร์มโซเชียล
“ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนและผู้ใช้งานออนไลน์/โซเชียลว่า ในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น เราจะดูเท่าที่จำเป็นจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และกระทบคนส่วนใหญ่ที่มีการใช้ช่องทางเหล่านี้ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ หรือการทำธุรกิจ ในการขอความร่วมมือแพลตฟอร์มเพื่อระงับ/ปิดกั้นการเข้าถึง เรามุ่งดำเนินการเฉพาะกับเฉพาะรายการโพสต์/ยูอาร์แอลที่มีข้อความผิดกฎหมาย ไม่ใช่การขอคำสั่งศาลเพื่อปิดแพลตฟอร์มทั้งระบบ แต่จะเป็นบางรายการที่มีความผิดชัดแจ้ง ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ทำเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ต้องกังวลใจ” นายภุชพงค์กล่าว
ล่าสุดในจำนวน 58 รายที่เข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายมีการปิดกั้นไปบางส่วนแล้ว ขณะที่ ความคืบหน้าของการระงับการเผยแพร่ของสื่อที่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีคำสั่งตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ดีอีเอส ดำเนินการตรวจสอบและระงับการเผยแพร่ของสื่อที่เข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ทางดีอีเอสได้ตรวจสอบ ประมวลโดยฝ่ายกฎหมาย เสนอศาลปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ของสื่อ 4 องค์กร ได้แก่ วอยซ์ทีวี ประชาไท The Reporters และ The Standard วันนี้ (20 ต.ค. 63) ศาลมีคำสั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของวอยซ์ทีวี แล้ว ส่วนอีก 3 สื่อยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา
ส่วนกรณีแอพพลิเคชั่นเทเลแกรม (Telegram) จากการที่ศูนย์เฝ้าระวังฯ ของดีอีเอส ตรวจพบการใช้แอพดังกล่าวในการนัดหมาย เชิญชวนชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงแจ้งเรื่องไปยัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อรับทราบและพิจารณาข้อมูลดังกล่าว
หลังจากนั้น ฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้มีคำสั่งที่ 11/2563 เรื่อง ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะ โดยให้สำนักงาน กสทช. และดีอีเอส ดำเนินการเพื่อให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ (เทเลแกรม)
นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า การที่ กอร.ฉ. มีคำสั่งดังกล่าว ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การปิดระบบหรือการเข้าถึงแอปเทเลแกรมทั้งหมด ในส่วนผู้ใช้งานทั่วไป ยังคงสามารถใช้งานได้ปกติ แต่จะดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะกลุ่มสนทนา หรือกลุ่มผู้ใช้งาน ที่ใข้แอปนี้เพื่อเชิญชวนหรือนัดหมายการชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“ขอเรียนว่ากระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตามขั้นตอนตามกฎหมาย และมีการขอความเห็นชอบต่อศาลมาโดยตลอด ไม่มีการทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติ โดยเคารพสิทธิการเข้าถึงสื่อทุกประเภทของประชาชนโดยเสรี ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด” นายภุชพงค์กล่าว
#ดีอีเอส #โซเชียล #ผิดกม. #พรบคอมพิวเตอร์