นักวิจัยจีนพัฒนา เมมเบรนชนิดใหม่สกัดยูเรเนียมจากน้ำทะเล-ทะเลสาบเกลือ 

ปักกิ่ง, ซินหัว

การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารแอดวานซ์ แมตทีเรียลส์ (Advanced Materials) ระบุว่าทีมนักวิจัยของจีนพัฒนาเมมเบรนชนิดใหม่เพื่อสกัดยูเรเนียมจากน้ำทะเลหรือน้ำทะเลสาบเกลือ ซึ่งส่งมอบแนวทางใหม่ในการบำบัดน้ำเสียและการกู้คืนโลหะหายาก

หนังสือพิมพ์ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี รายงานว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลานโจวได้คิดค้นเมมเบรนชีวจำลองแบบสองมิติ ซึ่งสร้างขึ้นโดยอาศัยการรวมประจุและพันธะไฮโดรเจน เมมเบรนนี้แสดงประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมในการแยกไอออนยูเรนิล (uranyl ion) อย่างแม่นยำ

ยูเรเนียมเป็นทรัพยากรสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจีนประสบปัญหาขาดแคลนแร่ชนิดนี้มาเป็นเวลานาน แม้ว่าน้ำทะเลและทะเลสาบเกลือของจีนจะมีไอออนยูเรนิลที่มีความเข้มข้นต่ำในปริมาณมาก แต่กระบวนการสกัดไอออนเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องท้าทาย

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัสดุสองมิติอย่างเช่นกราฟีนออกไซด์ กลายมาเป็นจุดสนใจหลักในด้านเทคโนโลยีการแยกไอออน ทว่าโครงสร้างของเมมเบรนกราฟีนออกไซด์มีแนวโน้มเกิดการเสียหายเมื่ออยู่ภายใต้ความดันสูง หรือหลังจากใช้งานเป็นเวลานาน

ทีมวิจัยได้แรงบันดาลใจจากศักยภาพตามธรรมชาติของผนังเซลล์พืชในการปรับโครงสร้างให้แข็งแรงและหนาแน่นขึ้นภายใต้ความดัน จึงได้ผสมผสานกราฟีนออกไซด์กับแบคทีเรียที่ปรับปรุงพันธุกรรมแล้ว เพื่อสร้างเมมเบรนชีวจำลองแบบสองมิติที่มีความหนาแน่นและเสถียรสูง

ผลการศึกษาชี้ว่าเมมเบรนใหม่นี้เพิ่มความแข็งแรงทางกลได้มากกว่า 12 เท่าเมื่อเทียบกับเมมเบรนกราฟีนออกไซด์แบบเดิม และสามารถจับไอออนยูเรนิลได้อย่างแม่นยำ โดยทีมงานยังคงปรับปรุงการออกแบบโครงสร้างเมมเบรนและกระบวนการผลิตขนานใหญ่เพื่อเร่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

สมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่าความสำเร็จนี้ส่งมอบวิธีที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนสำหรับการสกัดยูเรเนียมจากน้ำทะเล เมมเบรนใหม่นี้มีจุดแข็งในเรื่องมีค่าสมรรถนะการเลือกและความเสถียรสูง และใช้พลังงานต่ำ จึงคาดว่าจะส่งเสริมการกู้คืนทรัพยากรยูเรเนียมในภาคอุตสาหกรรม 

มหาวิทยาลัยหลานโจวระบุว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีศักยภาพการประยุกต์ใช้งานกว้างขวางในหลายสาขา เช่น การบำบัดน้ำ การรีไซเคิลน้ำเสีย และการกู้คืนพลังงาน ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลก อาทิ การขาดแคลนทรัพยากร วิกฤตพลังงาน และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

#ซินหัว #เมมเบรนชีวจำลองแบบสองมิติ #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share