จิรพรรณ บุญหนุน
กองบรรณาธิการ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561-2562 พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย พร้อมโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 นี้คาดอุตสาหกรรมดิจิทัลจะมีมูลค่าอยู่ที่ 665,567 ล้านบาท หรือมีการเติบโตจากปีที่ผ่านมา 1.2 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 647,952 ล้านบาท
ขณะที่ ปี 2565 คาดว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลจะมีอัตราการเติบโตที่ 9.9 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่า 813,363 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยยอมรับในการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น เร่งให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561-2562 และประมาณการมูลค่าตลาดดิจิทัลไทยปี 2563-2565 ครอบคลุม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Devices) อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์(Digital Content) และอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า (Big Data) พบว่า มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ปี 2563 จะมีมูลค่ารวม 655,567 ล้านบาท โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงสุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ตลาดอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Devices) มีมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 268,989 ล้านบาท รองลงมาคือตลาดอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลมีมูลค่าอยู่ที่ 204,240 ล้านบาทและตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่าอยู่ที่ 133,199 ล้านบาท
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตมาจากภาครัฐมีการลงทุนไอทีมากขึ้น การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G และการเข้ามาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวม
ในส่วนของประมาณการมูลค่าตลาดดิจิทัลไทย ปี 2564 และปี 2565 คาดว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2564 จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 739,951 ล้านบาทมีการเติบโตโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ 12.9 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งเป็นมูลค่าของตลาดอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะอยู่ที่ 304,900 ล้านบาท ตลาดอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลมีมูลค่า 231,220 ล้านบาทตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่าที่ 148,584 ล้านบาท ตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์มีมูคล่า 39,376 ล้านบาท และตลาดอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้ามีมูลค่าอยู่ที่ 16,871 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าตลาดดิจิทัลโดยรวมในปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 813,363 ล้านบาท มีการเติบโตจากปี 2564 ที่ 9.9 เปอร์เซ็นต์ โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ตลาดอุตสาหกรรมฮาร์ทแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีมูลค่าอยู่ที่ 321,730 ล้านบาท รองลงมาคือตลาดอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลมีมูลค่า 258,407 ล้านบาท ตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่า อยู่ที่ 169,574 ล้านบาท ตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์มีมูลค่า 45,094 ล้านบาทและตลาดอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้ามีมูลค่า 18,558 ล้านบาทตามลำดับ
รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซีกล่าวว่า ปี 2563 ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น มีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้นจึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตอย่างมาก สำหรับปี 2564 แม้มีแนวโน้มว่าจีดีพีของประเทศจะปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 จะทำให้ตัวเลขการเติบโของปี2564 จะไม่สูงเท่ากับปีก่อนหน้า ขณะที่ปี 2565 แนวโน้มการเจริญเติบโตด้านบริการดิจิทัลจะอยู่ในอัตราที่ดี แต่อาจไม่สูงเท่ากับที่เคยทำได้มาก่อน เพราะเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้วการสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นผลงานที่ดีป้าจัดทำต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นข้อมูลบ่งชี้สถานภาพปัจจุบันของอุตสาหกรรม และข้อมูลคาดการณ์ที่บ่งชี้แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในแต่ละปี โดยดีป้าจะขยายขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลให้ครอบคลุมมิติอื่นเพื่อให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2561 มีมูลค่ารวม 637,676 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีมูลค่ารวม 647,952 ล้านบาท มีการขยายตัวเฉลี่ย 1.61% โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2561-2562 มาจากปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมดิจิทัล ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) อีกทั้งผู้คนเริ่มคุ้นเคยและใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น ในทางกลับกันปัจจัยที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของมูลค่าตลาดมาจากขาดผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ที่มากระตุ้นตลาด ทำให้ปริมาณความต้องการอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ทชะลอตัวลง และหันไปใช้ในรูปแบบบริการมากขึ้น (เช่น บริการ cloud) การขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่การใช้บริการต่าง ๆ ที่ซื้อตรงจากต่างประเทศมีมากขึ้น ทำให้ไม่มีข้อมูลแสดงรายได้ในประเทศ