ซีเอ็มเอ็มยู เปิด ป.เอก DBA รองรับผู้บริหารองค์กร ตั้งเป้าสถาบันการจัดการชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน

กองบรรณาธิการ

รศ. ดร. ปรารถนา ปุณณกิติเกษม คณบดี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หรือ ซีเอ็มเอ็มยู กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2568 ซีเอ็มเอ็มยู จะเปิดหลักสูตรปริญญาเอก Doctorate of Business Administration (DBA) สำหรับผู้บริหารระดับสูง เพื่อยกระดับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกผ่านกระบวนการเรียนรู้ ด้านการวิจัย มีการเก็บข้อมูลงานวิจัยจากองค์กร มีการสังเคราะห์ และตอบโจทย์งานวิจัยจากองค์กร สำหรับผู้บริหารที่ต้องการกระบวนการวิจัยเป็นคำตอบในการบริหารองค์กร นอกจากนี้หลักสูตรยังเน้นให้นักศึกษาสามารถออกแบบการเรียนในรูปแบบของตัวเอง หรือ personalized learning ด้วย สำหรับหลักสูตรปริญญาเอก Doctorate of Business Administration (DBA) นี้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศในการพัฒนาหลักสูตรด้วย โดยจะใช้ระยะเวลาในการเรียน 3 ปี 

นอกจากนี้  รองศาสตราจารย์ ดร. ปรารถนา ยังได้เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ หลังจากที่ได้รับตำแหน่งคณบดี ว่า จะชูวิสัยทัศน์ Transform Lives, Transform Organizations, Transform Society เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกผ่าน 5 กลยุทธ์การพัฒนาเพื่อขับเคลื่อน CMMU สู่การเป็น สถาบันการจัดการชั้นนำในอาเซียนที่เป็น Place for Transformation พลังสําคัญในการยกระดับชีวิตผู้คน พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมผ่านนวัตกรรมการศึกษาที่ทันสมัย งานวิจัยระดับโลก และการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน และในโอกาสก้าวสู่ทศวรรษใหม่มุ่งมั่นที่จะพัฒนา CMMU ให้เป็น สถาบันการจัดการชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ที่ทันสมัย พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และไม่เพียงแต่ผลิตบุคลากรคุณภาพ แต่ยังมุ่งมั่นที่จะเป็น Place for Transformation ในบทบาทผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมด้วยงานวิจัย นวัตกรรมการศึกษา การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พร้อมสร้าง Positive Impact ผลกระทบเชิงบวกที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง Transform Lives, Transform Organizations, Transform Society เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้เรียน  ด้วยการพัฒนาความสามารถและทักษะของผู้เรียนให้พร้อมเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูงตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปสร้างคุณค่าและสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร และต่อยอดขยายผลไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคม  

“เราไม่ได้ต้องการให้ CMMU เป็นเพียงสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้ในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องเป็น Place for Transformation ที่ช่วยยกระดับชีวิตผู้คนในทุกมิติ ที่นักศึกษาไม่ใช่แค่มาเพื่อเรียนรู้ แต่จะได้โอกาสในการพัฒนาตัวเอง นำความรู้ความสามารถไปพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตนเอง องค์กร และสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

รศ.ดร. ปรารถนา ยังได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในช่วงปี 2568-2572 เพื่อขับเคลื่อน CMMU ไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจะนำงานวิจัยมายกระดับการสร้างประสบการณ์ใหม่ทางการศึกษา และเน้นการเรียนรู้แบบตลอดชีวิตเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบการศึกษาจากภายในเพื่อก้าวสู่การเป็นสถาบันการศึกษาใน ASEAN ที่พร้อมจะสร้างความเชื่อมโยงกับสถาบันชั้นนำระดับโลกในอนาคต ผ่าน 5 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย

1. สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการที่ตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ได้จริง (Research & Innovation for Real-World Impact) สร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) อาทิ Bio-based, EV battery และ เผซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ สร้างผลกระทบเชิงบวกสูงต่อสังคม และใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเน้น 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ (1) ความยั่งยืน (Sustainability) เช่น งานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน งานวิจัยด้านการบริหารจัดการเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDG) งานวิจัยการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, social, and governance, ESG) (2) ธุรกิจสุขภาพ (Health and Wellness) เช่น การบริหารจัดการแบบองค์รวม การจัดการในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบริหารจัดการในสังคมสูง การแพทย์เชิงป้องกัน (3) การบริหารจัดการยุคใหม่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี Modern Management, Innovation, Technology, and Entrepreneurship เช่น AI, FinTech, อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยและองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดตั้งฟอรั่มงานวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาเครือข่ายนักวิจัย พัฒนากลไกการสนับสนุนนักวิจัย และส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งประยุกต์ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน และการพัฒนาธุรกิจและสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย แต่สามารถสร้างอิมแพ็คไปถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก

2. สร้างมิติใหม่ทางการศึกษาด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยและการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Innovative Education & Authentic Learning) มุ่งสร้างมิติใหม่ทางการศึกษาด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรสหวิทยาการที่ผสมผสานองค์ความรู้ข้ามศาสตร์ เช่น ทันตแพทยศาสตร์และการจัดการ (ในอนาคต) วิศวกรรมศาสตร์และการจัดการ(ในอนาคต) หลักสูตรปริญญาคู่ (Double Degree) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงหลักสูตรระยะสั้น (M-Credit) ที่เน้นการพัฒนาทักษะเฉพาะทางที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการ Upskill/Reskill เช่น ทักษะแห่งอนาคต ความยั่งยืน UN-SDGs การวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้ Generative AI อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้และปรับแต่งให้เหมาะสมกับความต้องการได้

พร้อมนำเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) มาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนในยุคดิจิทัล เช่น ใช้ AI ช่วยแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนหรือออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคล พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) เช่น การเรียนรู้ผ่านเกมส์หรือสถานการณ์จำลอง (Gamification & Simulation) การเรียนรู้จากประสบารณ์การทำงานจริง (Work-Integrated Learning) ที่ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

3. ยกระดับบริการวิชาการสู่ความเป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการในทุกมิติ และส่งเสริม
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Excellent & Impactful Academic Services) มุ่งพัฒนาบริการทางวิชาการ
ที่ตอบโจทย์ทั้งบุคคลและองค์กรในทุกระดับ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำและพันธมิตรในภาคธุรกิจ
พัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับผู้บริหารและบริการให้คำปรึกษา รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสาธารณะที่ทันสมัย
ยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะเฉพาะทางไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เช่น หลักสูตรการบริหารจัดการขั้นสูง (AMP) หลักสูตรภาวะผู้นำเพื่อความยั่งยืน หลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพและทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) พร้อมทั้งเพิ่มรูปแบบ ช่องทาง และทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

4. สร้างนวัตกรรมการจัดการที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนจากภายใน (Management Innovation
for Sustainability) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในของ CMMU
ให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และคล่องตัว พร้อมพัฒนาคุณภาพคณาจารย์และบุคลากร พัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ พัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมความความก้าวหน้าในสายอาชีพ และส่งเสริมสุขภาวะองค์รวม
ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความสัมพันธ์
ที่ดีอย่างยั่งยืน

5. สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักและสร้างการยอมรับในระดับสากล (Internationalization) พัฒนา CMMU ให้เป็นสถาบันการจัดการระดับโลก โดยยกระดับมาตรฐานการศึกษา พัฒนาคุณภาพการเรียน
การสอน และผลงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมเพิ่มการรับรองมาตรฐานจากสถาบันนานาชาติ
ซึ่งปัจจุบัน CMMU ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำหลายแห่ง เช่น AACSB PRME และล่าสุด
เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จาก AMBA และ BGA เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่เพียงการันตีคุณภาพมาตรฐานทางการศึกษา แต่ยังตอกย้ำให้เห็นว่า CMMU เป็นสถาบันที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ CMMU ยังมุ่งขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย พร้อมเดินหน้าขยายฐานนักศึกษานานาชาติเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศ “Truly International”

“เราต้องการให้ CMMU เป็นมากกว่าสถาบันการศึกษา แต่เป็นเหมือน “พาร์ทเนอร์การเรียนรู้” (Learning partner) หรือ “คู่คิด”  สำหรับบุคคลและองค์กรในทุกระดับ และทุกช่วงของชีวิต ที่ต้องการเข้ามาแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ทุกคนสามารถมาร่วมสร้าง (co-creation) ประสบการณ์เรียนรู้ของแต่ละคนเพื่อที่จะได้ปรับตัวและเติบโตในโลกธุรกิจที่ท้าทายได้อย่างมั่นคง ก้าวไปสู่ความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง พร้อมสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร และเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกให้ดีกว่าเดิม” รศ.ดร. ปรารถนา กล่าว

#ซีเอ็มเอ็มยู #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share