จุฬาฯ ผนึก Google เปิดตัว แอพฯ ChulaGENIE เล็งขึ้นแท่น AI University แห่งแรกในไทย

กองบรรณาธิการ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) ร่วมกับ Google Cloud เปิดตัวโครงการ ChulaGENIE เพื่อบุกเบิกการพัฒนาและส่งมอบแอพพลิเคชันที่นำเอาเทคโนโลยี Generative AI มาให้ประชาคมจุฬาฯ ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าในระยะแรก ChulaGENIE หรือ Chula’s Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education จะเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้บริการแก่นิสิตทุกคนได้ภายในเดือนมีนาคม 2568

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยด้าน AI ของประเทศไทย (AI University) จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อเร่งรัดการพัฒนา รูปแบบการใช้เอไออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว โดยการใช้แพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ซึ่งรวมเอาความสามารถด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียว รวมถึงความยืดหยุ่นในการเลือกโมเดลผ่าน Model Garden และความสามารถในการปรับแต่งโมเดลพื้นฐานให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายและการตอบสนองได้แม่นยำ จุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอพพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยยึดหลัก Responsible AI และตอบสนองความต้องการของประชาคมในวงกว้าง โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ

สำหรับรูปแบบการใช้งาน ของเจ้าหน้าที่ อาจารย์และนิสิต นั้นจุฬาฯ เตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE โดยประชาคมจุฬาฯ จะสามารถสร้างตัวช่วยเฉพาะทางที่ปรับแต่งได้สำหรับงานเฉพาะด้าน ประกอบด้วย

– ตัวช่วยด้านการวิจัย ที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ เช่น ประสิทธิภาพของเทคนิคการกักเก็บคาร์บอนต่าง ๆ ในวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงการจราจรในเขตเมืองในด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนิสิตสามารถเชื่อมโยงหรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ ได้

– ตัวช่วยด้านการศึกษา ที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเป็นเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้

– ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT เป็นต้น

ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่า จุฬาฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการใช้งาน AI ที่มีความรับผิดชอบ โดยทางมหาวิทยาลัยได้นำระบบกรองเนื้อหา ของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาใช้เพื่อออกแบบ ChulaGENIE มิให้ตอบหรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย นอกจากนี้จุฬาฯ ยังเตรียมเพิ่มความแม่นยำในการตอบคำถามของ ChulaGENIE ด้วยการเปิดใช้งานการ Grounding ด้วย Google Serach ซึ่งเป็นฟีเจอร์พิเศษที่พัฒนาโดย Google Cloud

นอกจากนี้จุฬาฯ ยังใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึงระดับองค์กรของ Google Cloud เพื่อมอบประสบการณ์ AI ที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ระบบนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าคำสั่งหรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนรวมถึงคำตอบของ AI จะไม่ถูกผู้พัฒนาโมเดลภายนอกจุฬาฯ นำไปใช้ในการฝึกโมเดลพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันจุฬาฯ ยังสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการใช้งานโดยรวมของ ChulaGENIE เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของแอพพลิเคชัน รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย

ในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอพพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขโดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน

เสริมทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับประชาคมจุฬาฯ

จุฬาฯ อบรมคอร์ส Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ Samart Skills ของ Google ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 800 คน และได้รับใบรับรองจาก Google เพื่อยืนยันความเชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือ Generative AI โดยคอร์ส Google AI Essentials นี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการใช้งาน AI ผ่านวิดีโอการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ การฝึกปฏิบัติจริง รวมถึงการประเมินผล และเครื่องมืออื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเข้าใจเทคนิคการเขียนคำสั่ง (prompting) และการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ จุฬาฯ กำลังปรับหลักสูตร Google AI Essentials ให้เรียบง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ กว่า 50,000 คนสามารถเรียนรู้การใช้งาน ChulaGENIE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน แก้ไขปัญหาในโลกความเป็นจริง และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในสาขาของตนเอง

ดังนั้นความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการสร้างคุณภาพชีวิต สร้างผลกระทบต่อสังคมโดยรวม โดยใช้เอไอ และจุฬาฯ จะสร้างเครื่องมือให้คนใช้ เอไอด้วยความรับผิดชอบ และสร้างคนที่พร้อมในการใช้เอไอและจะทำอย่างไรให้บุคลากร คณาจารย์ และนิสิต ประมาณ 50,000 จะต้องใช้เอไอได้อย่างเท่าเทียมช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงเครื่องมือเอไอ 

“เมื่อจุฬาฯ เป็น AI University ทุกคนต้องมีความรู้ด้านเอไอ มีการนำไปใช้ หลังจากนั้นจุฬาฯพร้อมจะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และสเต็ปถัดไปจะเป็นการขยายการใช้งานไปพันธมิตรและสังคม” ศ.ดร.วิเลิศ

ด้านนายอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือกับจุฬาฯ ทำให้จุฬาฯสามารถใช้แพลตฟอร์มของ Google สร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา ได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ Responsible AI ไปใช้ได้จริงผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น Grounding บริการประเมินโมเดล และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานที่เข้มงวดในด้านการกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การเปิดตัว ChulaGENIE สำหรับโครงการริเริ่มด้าน AI เชิงกลยุทธ์ ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนา ติดตั้ง และจัดการ AI ได้ในวงกว้าง ประกอบกับการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และโครงการพัฒนาทักษะ AI ของ Google จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งในท้ายที่สุดจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทย ความร่วมมือกับจุฬาฯ เป็นที่แรกและอยากจะให้มีความสำเร็จด้วย

#จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #Google #ThaiSMEs 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share