กองบรรณาธิการ
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายในการเป็น ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” (The Leading Sustainable and Regional Bank) ด้วยแนวคิด GO Sustainable with krungsri ให้ความสำคัญทั้งเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาความเป็นผู้นำทางธุรกิจ พร้อมทั้งเคียงข้างให้การสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคม
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน ตามแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน กรุงศรีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนใน 2 ด้านหลัก ด้านแรก คือ การเติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจหลัก (Sustainable Core Business) ซึ่งมุ่งนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งให้ความสำคัญด้านความร่วมมือกับพันธมิตรและการสร้างอีโคซิสเต็มส์ให้กับธุรกิจทั้งในประเทศและอาเซียน และด้านที่สอง คือ การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Society) โดยให้การสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม ซึ่งทั้งหมดนี้ กรุงศรีจะดำเนินการภายใต้แนวคิด GO Sustainable with krungsri เพื่อเดินหน้าสู่เส้นทางของความยั่งยืนร่วมกัน
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Society) มีหลากหลายโครงการที่กรุงศรีได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่องและยังคงเดินหน้าต่อไป รวมถึงพัฒนาโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและกำลังเร่งดำเนินการ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น โดยในปี 2564 กรุงศรีได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Krungsri Net Zero Vision) ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี 2573 และจากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593 เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งกรุงศรีให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่องแรก คือ การให้ความสำคัญกับการดำเนินการภายในกรุงศรี (Own Operations) โดยมุ่งดูแลลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ปลูกฝัง Krungsri Sustainability DNA ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร เพื่อให้ทุกคนในองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารและพนักงานได้มีส่วนร่วม ปรับเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ การลดขยะอาหารที่ต้องฝังกลบให้เป็นศูนย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี 2573 และเดินหน้าสู่การเป็น Net-Zero Organization ในส่วนนี้กรุงศรีได้ริเริ่มและดำเนินการในหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่สำนักงานใหญ่ อาคารสำนักงานอื่นๆ ของกรุงศรี และสาขาของธนาคาร อาทิ การเปลี่ยนระบบเครื่องทำความเย็น (Chiller Plant) การติดตั้งแผงโซลาเซลล์ การเปลี่ยนรถยนต์ ส่วนกลางและจักรยานยนต์ที่ใช้ในการรับส่งเอกสารเป็นยานยนต์ไฟฟ้า การกำจัดขยะ
เรื่องที่สอง คือ การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) กรุงศรีมุ่งสนับสนุนลูกค้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยกรุงศรีได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ MUFG สถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยออกสู่ตลาด ปัจจุบันกรุงศรีอยู่ในตำแหน่งผู้นำในตลาดทุนและตลาดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย เป็นผู้ออกตราสารเพื่อความยั่งยืน (ESG Bond Underwriting) โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 20 เปอร์เซ็นต์ และเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยรายแรกที่ออกผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนใหม่ๆ สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินเชื่อเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน และเงินฝากเพื่อความยั่งยืน
ทั้งนี้ กรุงศรีมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593 โดยธนาคารได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) จำนวน 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 (จากปีฐาน 2564) และข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรุงศรีได้ให้เงินสนับสนุนแก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 76,000 ล้านบาท (จากปีฐาน 2564) ซึ่งใกล้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ทำให้กรุงศรีกำลังพิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายให้เหมาะสมกับศักยภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น
“กรุงศรีตระหนักดีว่า การที่เราจะเป็นผู้นำในการเป็นธนาคารที่ยั่งยืนได้นั้น ไม่เพียงต้องปรับตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และการสนับสนุนลูกค้าด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเป็นธนาคารที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง คือ การสร้างรากฐานด้านความยั่งยืนให้แข็งแกร่ง โดยปัจจุบันกรุงศรีอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีมาตรฐานสากล TCFD (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ผ่านคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IECC) ของธนาคาร และจัดทำแผน Transition Plan เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero รวมทั้งเรายังเป็นหนึ่งในธนาคารหลักที่ทำงานภายใต้สมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยภาคธนาคารไทยเร่งพัฒนาแผน Transition Plan สำหรับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย”
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ด้วยแนวคิด GO Sustainable with krungsri กรุงศรีมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะเป็น Market Shaper ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งภาคการเงินและขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการ เราพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้า พันธมิตร และทุกภาคส่วนของสังคมในการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้า สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้กรุงศรี อยู่ระหว่างการจัดทำเฟรมเวิร์ดสู่ความยั่งยืนใน 2 เรื่อง ได้แก่ เฟรมเวิร์ดการจัดการพลังงานและโลจิสติกส์สู่ความยั่งยืน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า
#กรุงศรี # GOSustainablewithkrungsri #ThaiSMEs