กองบรรณาธิการ
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจ SME ถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็นับว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการหาช่องทางการตลาดในต่างประเทศ และยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) กรมจึงได้มีการปรับรุปแบบกิจกรรมหลายกิจกรรมที่เคยอยู่ในรูปแบบออฟไลน์ ให้เข้าสู่รูปแบบออนไลน์มากขึ้น หรือกิจกรรมไฮบริด ทั้งงานแสดงสินค้า คณะผู้แทนการค้า กิจกรรมส่งเสริมการขาย การอบรมสัมมนา และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ได้เร่งรัดให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่มีอยู่ 58 แห่งทั่วโลก ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ หาพันธมิตรทางการค้า พัฒนาข้อมูลการค้าให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์ ตลอดจนหาช่องทางในการขยายตลาดเชิงลึก เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทย ในด้านการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ออกตลาดต่างประเทศด้วยตนเอง กรมฯ ได้ดำเนินโครงการ SMEs Pro-active โดยร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) ให้วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง เป็นจำนวน 6 ครั้ง ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) หรือการพิชชิ่งโครงการ (Pitching) และในปีงบประมาณ 2564 โครงการฯ เตรียมขยายกรอบในเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเสมือนจริงในต่างประเทศ หรือ Virtual Exhibition รวมถึงช่องทางการตลาดผ่าน E-commerce ของแพลตฟอร์มระหว่างประเทศด้วย
ด้าน นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
ตลาดส่งออกปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งภายใน 7 เดือนที่ผ่านมาติดลบที่ 7.7% แต่ตลาดที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วที่สุดตอนนี้คือตลาดจีน เนื่องจากปิดประเทศเร็วและสามารถจัดการระบบต่าง ๆ ให้กลับมาได้ ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ยังคงไปได้ในตอนนี้คือ กลุ่มของอาหาร และสุขภาพความงาม หากมองภาพรวมแล้วโดยรวมมีผลกระทบแต่หากจะมองลงไปในบางตลาดได้นั้น เอสเอ็มไทยยังมีโอกาสในการเจาะตลาดอยู่ เพราะกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงนิยมสินค้าไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลาดชายแดนบ้านนั้นยังคงมีเสถียรภาพสูงอยู่ เพียงแต่ต้องมีการพยายามช่วยกันผลักดันให้เกิดการส่งออกมากขึ้น
ด้านนายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยต้องเริ่มจากการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อให้สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ มองว่าระยะหลังโควิด-19 ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมและต้องเข้าใจว่าสินค้าอะไรที่สามารถส่งออกได้และจะส่งไปตลาดใด ซึ่งจีนเป็นตลาดที่น่าสนใจในตอนนี้ เพราะระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกและเป็นโอกาสที่เข้าถึงได้ไม่ยาก เนื่องจากการส่งออกไปยังอเมริกา ยุโรป หยุดชะงักและตลาดชะลอตัว
ขณะที่ นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดกลับมาจุดเดิมอีกครั้ง แต่ในสถานการณ์เรียนรู้ที่ต่างกัน ผู้ประกอบการต้องกระตือรือร้นมากขึ้น มีการปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ที่มีตัวแปรมากขึ้น อย่าอยู่แบบรอ แต่ต้องมองหาโอกาส ว่าตลาดไหนสามารถไปได้ แล้วย้อนกลับมามองหาจุดอ่อนของธุรกิจตัวเอง ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงๆ แล้วหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการเติบโตภายในประเทศอยู่ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น หากมีการปรับตัวให้พร้อม เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็จะกลายเป็นโอกาสของคนที่พร้อมก่อนโครงการ SMEs Pro-Active ได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี สนับสนุนผู้ประกอบการไทยกว่า 6,000 ราย สู่ตลาดใน 74 ประเทศทั่วโลก ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและหลักเกณฑ์โครงการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือ Facebook Page: SMEs Pro-active by DITP สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 และ 02-507-7786