วีซ่า เผยประเทศไทยขึ้นแท่นผู้นำการใช้แอพพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองบรรณาธิการ

วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัล เผยข้อมูลที่น่าสนใจจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีฉบับล่าสุดของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านความถี่ในการใช้แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอ้างอิงจากการศึกษาล่าสุดพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่าพวกเขาใช้งานแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ตามมาด้วยผู้บริโภคชาวเวียดนาม (95 เปอร์เซ็นต์) และชาวอินโดนีเซีย (90 เปอร์เซ็นต์)

โดยเฉลี่ยเกือบเก้าในสิบ (89 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้แอพพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งแอพพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งยังเป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ที่คนเลือกใช้มากที่สุดในทุกประเทศที่ทำการสำรวจ โดยประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยตัวเลข 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคที่ระบุว่านิยมใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือมากกว่าบริการบนเว็บไซต์ ตามด้วยผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย (95 เปอร์เซ็นต์) และชาวเวียดนาม (92 เปอร์เซ็นต์)

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การชำระเงินแบบดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านบัตรคอนแทคเลส สมาร์ทโฟน และการสแกนคิวอาร์โค้ด รวมทั้งเรายังเห็นการชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ตั้งแต่ร้านอาหารขนาดย่อมไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ วีซ่า มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการชำระเงินเพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงินดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ให้แก่ทุกคนในทุกที่ทุกเวลา”

 นายปุณณมาศ กล่าวต่อว่า ยิ่งผู้บริโภคในภูมิภาคใช้จ่ายแบบดิจิทัลมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็พกเงินสดน้อยลงเท่านั้น โดยการศึกษาของวีซ่าระบุว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พกเงินสดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นำโดยชาวเวียดนาม (56 เปอร์เซ็นต์) มาเลเซีย (49 เปอร์เซ็นต์) และไทย (47 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาพกเงินสดน้อยลง คือ ใช้จ่ายผ่านการชำระเงินแบบดิจิทัลในรูปแบบคอนแทคเลส หรือไร้สัมผัสมากขึ้น มีสถานที่รับชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น และกังวลว่าเงินสดจะสูญหายหรือถูกขโมย

ในส่วนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ Gen AI ก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 75 เปอร์เซ็นต์ เคยได้ยินเกี่ยวกับคอนเซปต์ หรือรู้ว่ามันคืออะไร สำหรับ Gen AI ในบริบทของการให้บริการทางการเงินนั้น หนึ่งในสามของผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (32 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าเคยใช้งาน Gen AI มาแล้ว ขณะที่ 38 เปอร์เซ็นต์รู้จักแต่ไม่เคยใช้งานมาก่อน และหากจำแนกตามกลุ่มผู้บริโภคจะพบว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง (51 เปอร์เซ็นต์) จะคุ้นเคยกับ Gen AI มากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (37 เปอร์เซ็นต์)

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจจากการศึกษาฉบับนี้คือ นอกจากอัตราการรับรู้ที่สูงแล้ว บริการที่ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้กำลังมองหาจาก Gen AI ในการทำธุรกรรมมากที่สุดสามอันดับแรก คือ การแจ้งเตือนธุรกรรมที่อาจเกิดการฉ้อโกงหรือตรวจจับการฉ้อโกง (79 เปอร์เซ็นต์) การโต้ตอบกับลูกค้าที่สอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ (73 เปอร์เซ็นต์) และการแนะนำผลิตภัณฑ์ด้านการเงินแบบเฉพาะบุคคล (71 เปอร์เซ็นต์)

การชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time payments หรือ RTP) ก็เป็นอีกทางเลือกที่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยมีผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์ รู้จักวิธีการชำระเงินในรูปแบบนี้ และ 47 เปอร์เซ็นต์ เคยใช้บริการโอนเงินแบบเรียลไทม์มาก่อน ประเทศไทยอยู่อันดับแรกของภูมิภาคในด้านความถี่ของการใช้บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ โดย 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ตามด้วยเวียดนามที่ 84 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซียที่ 69 เปอร์เซ็นต์

แม้การชำระเงินแบบเรียลไทม์จะเป็นที่รู้จักและมีอัตราการยอมรับสูง แต่ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงสงวนท่าทีในการเลือกชำระเงินในรูปแบบนี้โดยข้อกังวลลำดับต้นๆ ที่ทำให้พวกเขาลังเลคือ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (44 เปอร์เซ็นต์) ชอบชำระเงินดิจิทัลรูปแบบอื่นมากกว่า เช่น บัตรเครดิต/ บัตรเดบิต (42 เปอร์เซ็นต์) และขาดความเข้าใจในการใช้งาน (41 เปอร์เซ็นต์)

#วีซ่า #Visa #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share